รายงานผลการประเมินโครงการส่งเสริมสุขภาพ โรงเรียนบ้านห้วยเขว้า
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลพบุรี เขต 2
ผู้ประเมิน นายชินวัจน์ ละออง
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยเขว้า
ปีที่ประเมิน 2562
บทคัดย่อ
รายงานผลการประเมินโครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการทราบผลการดำเนินโครงการส่งเสริมสุขภาพ โรงเรียนบ้านห้วยเขว้า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลพบุรี เขต 2
ปีการศึกษา 2562 โดยใช้รูปแบบซิปป์ (CIPP Model) ใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านสภาพแวดล้อม (context evaluation) ด้านปัจจัยเบื้องต้น (input evaluation) ด้านกระบวนการ (process evaluation) และด้านผลผลิต(product evaluation) ทำการศึกษาผลการประเมินตามความคิดเห็นของประชากร ประกอบด้วย คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูและเจ้าหน้าที่ นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียน รวมทั้งสิ้น จำนวน 100 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ได้แก่ แบบสอบถามการประเมินโครงการ จำนวน 3 ฉบับ ที่มีค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ 0.973, 0.953 และ 0.976 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าทางสถิติ ร้อยละ (percentage) ค่าเฉลี่ย (mean) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation)
ผลการศึกษา พบว่า
ผลการประเมินโครงการส่งเสริมสุขภาพ โรงเรียนบ้านห้วยเขว้า ภาพรวม อยู่ในระดับมาก โดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย คือ ด้านสภาพแวดล้อม ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านผลผลิต และด้านกระบวนการ
1. ด้านสภาพแวดล้อม มีผลการประเมิน ภาพรวม อยู่ในระดับมาก โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ การส่งเสริมสุขภาพมีความจำเป็นต่อนักเรียนและบุคลากรของโรงเรียน วัตถุประสงค์ของโครงการสอดคล้องกับความต้องการของนักเรียน บุคลากรในโรงเรียน และชุมชน และนักเรียนที่มีสุขภาพดีจะส่งผลต่อการเรียนรู้ที่ดี การส่งเสริมให้นักเรียน ครูและบุคลากรในโรงเรียน มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ตามลำดับ
2. ด้านปัจจัยเบื้องต้น มีผลการประเมิน ภาพรวม อยู่ในระดับมาก โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ผู้รับผิดชอบโครงการมีความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินกิจกรรมตามโครงการ บุคลากรมีความเหมาะสมต่อการดำเนินโครงการ และผู้รับผิดชอบโครงการตระหนักถึงความสำคัญ ในการดำเนินกิจกรรมตามโครงการ โรงเรียนมีวัสดุ อุปกรณ์ สำหรับดูแลทำความสะอาดสภาพแวดล้อมให้ถูกสุขลักษณะ ตามลำดับ
3. ด้านกระบวนการ มีผลการประเมิน ภาพรวม อยู่ในระดับมาก โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ การส่งเสริมให้บุคลากรในโรงเรียนทุกคนมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม ปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องสุขภาพ โดยไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การจัดทำแผนงาน โครงการที่ระบุกิจกรรมชัดเจน ปฏิบัติได้จริง และกำหนดผู้รับผิดชอบชัดเจนตรงตามบทบาทหน้าที่ และการจัดระบบดูแลช่วยเหลือ ให้คำปรึกษานักเรียนที่มีปัญหา ด้านสุขภาพและพฤติกรรมอย่างเหมาะสมโดยครูประจำชั้น ตามลำดับ
4. ด้านผลผลิต มีผลการประเมิน ภาพรวม อยู่ในระดับมาก โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นักเรียนไม่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ สุราและสารเสพติดต่างๆ และเข้าร่วมในกิจกรรมการรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด นักเรียนเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่าถูกหลักโภชนาการ และนักเรียนแปรงฟันอย่างถูกวิธีหลังรับประทานอาหาร ตามลำดับ