บทคัดย่อ การพัฒนาเจตคติต่อพฤติกรรมทางเพศของนักเรียน
โปรแกรมการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มตามทฤษฎีเหตุผล อารมณ์และพฤติกรรม กรณีศึกษาโรงเรียนชุมชนวัด
ไทรน้อย
ผู้รายงาน นางรัชนี เต็มแก้ว
ปืที่รายงาน 2563
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) เพื่อเปรียบเทียบเจตคติต่อพฤติกรรมทางเพศของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มทดลอง ก่อนและหลังการใช้โปรแกรมการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มตามทฤษฎีเหตุผล อารมณ์และพฤติกรรม (2) เพื่อเปรียบเทียบเจตคติต่อพฤติกรรมทางเพศของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มควบคุม ระยะก่อนการทดลองกับระยะหลังการทดลอง (3) เพื่อเปรียบเทียบเจตคติต่อพฤติกรรมทางเพศของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม (4) เพื่อเปรียบเทียบเจตคติต่อพฤติกรรมทางเพศของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มทดลอง ระยะหลังการทดลองกับระยะติดตามผล
กลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 โรงเรียนชุมชนวัดไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ซึ่งได้จากการคัดกรองนักเรียนตามระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนชุมชนวัดไทรน้อย ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มมีปัญหา และได้สอบถามความสมัครใจเข้าร่วมการทดลอง จำนวน 18 คน ซึ่งเป็นเพศหญิงทั้งหมด หลังจากนั้นจัดกลุ่มด้วยวิธีการจับสลากสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งเป็นชั้นภูมิ (Stratified Sampling) เป็นกลุ่มทดลอง 9 คน และกลุ่มควบคุม 9 คน ดังนี้ (1) กลุ่มทดลอง 9 คน ประกอบด้วย (ก) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 3 คน (ข) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 3 คน (ค) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 3 คน (2) กลุ่มควบคุม 9 คน ประกอบด้วย (ก) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 3 คน
(ข) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 2 คน (ค) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 4 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ (1) โปรแกรมการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มตามทฤษฎีเหตุผล อารมณ์และพฤติกรรม (2) แบบวัดเจตคติต่อพฤติกรรมทางเพศของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที
ผลการศึกษาพบว่า
1. เจตคติต่อพฤติกรรมทางเพศของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มที่ใช้โปรแกรมการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มตามทฤษฎีเหตุผล อารมณ์และพฤติกรรม หลังใช้โปรแกรมสูงกว่าก่อนใช้โปรแกรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
2. เจตคติต่อพฤติกรรมทางเพศของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มที่ไม่ได้ใช้โปรแกรมการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มตามทฤษฎีเหตุผล อารมณ์และพฤติกรรม ระยะหลังการทดลองไม่แตกต่างกับระยะก่อนทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. เจตคติต่อพฤติกรรมทางเพศของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มทดลองที่ใช้โปรแกรมการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มตามทฤษฎีเหตุผล อารมณ์และพฤติกรรม ระยะหลังทดลองมีเจตคติสูงกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. เจตคติต่อพฤติกรรมทางเพศของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มที่ใช้โปรแกรมการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มตามทฤษฎีเหตุผล อารมณ์และพฤติกรรม ระยะติดตามผลสูงกว่าระยะหลังใช้โปรแกรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01