พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์โดยใช้แผนผังความคิด (Concept mapping)
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
การเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) มุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยเน้นส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาความคิด ทั้งความคิดเป็นเหตุเป็นผล คิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์วิจารณ์ มีทักษะที่สำคัญทั้งทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และทักษะในศตวรรษที่ 21 ในการค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ด้วยกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ สามารถแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ สามารถตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลหลากหลาย และประจักษ์พยานที่ตรวจสอบได้ ให้มีศักยภาพสูงในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ ดังนั้นการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์จึงมุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้เป็นผู้เรียนรู้ และค้นพบด้วยตนเองมากที่สุด นั่นคือให้ได้ทั้งกระบวนการ และองค์ความรู้ ตั้งแต่วัยเริ่มแรกก่อนเข้าเรียน เมื่ออยู่ในสถานศึกษาและเมื่อออกจากสถานศึกษาไปประกอบอาชีพแล้ว
ดังนั้นสถานศึกษาและครูผู้สอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนให้การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ส่งผลให้ผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถ เกิดทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และทักษะ ในการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติในด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
โรงเรียนสระแก้วเห็นความสำคัญของการพัฒนาผู้เรียนเกิดความคิดเป็นเหตุเป็นผลคิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์วิจารณ์ มีทักษะที่สำคัญทั้งทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์จึงได้ศึกษาวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพส่งผลให้การเรียนรู้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายการศึกษา ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) และนำกระบวนการจัดการเรียนการสอนด้วยแผนผังความคิด (Concept mapping) ที่เป็นการจัดการเรียนการสอนที่ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ ทั้งด้านความรู้ในเนื้อหา และกระบวนการในการสืบเสาะหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนเชื่อมโยงความรู้กับกระบวนการต่าง ๆ มีทักษะสําคัญในการค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ โดยใช้กระบวนการในการสืบเสาะหาความรู้ และแก้ปัญหาที่หลากหลาย ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ทุกขั้นตอน มีการลงมือปฏิบัติอย่างหลากหลาย เหมาะสมกับวัยและระดับชั้นของผู้เรียน โดยบูรณาการการใช้สื่อเทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน ซึ่งสภาพการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ครูผู้สอนยังขาดประสบการณ์ และเทคนิคการจัดการเรียนการสอนด้วยกระบวนการการใช้แผนผังความคิด (Concept mapping) อีกทั้งนักเรียนบางส่วนยังไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินระดับชาติ เนื่องจากขาดการใช้เทคนิคการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลาย และวิธีการที่เพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้เรียน
ด้วยเหตุนี้ผู้สอนจึงเห็นว่าควรนำกระบวนการสอนแบบ Concept mapping บูรณาการ นำเทคโนโลยี และสื่อออนไลน์ต่าง ๆ มาใช้พัฒนาขีดความสามารถของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เพื่อให้นักเรียนมีความสามารถความในการคิด ทั้งความคิดเป็นเหตุเป็นผล คิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์วิจารณ์ มีทักษะที่สำคัญทั้งทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และทักษะในศตวรรษที่ 21
เพิ่มมากขึ้น
วัตถุประสงค์
1. เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์โดยใช้แผนผังความคิด (Concept mapping) ให้กับนักเรียน
2. เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน