รายงานการประเมินโครงการเด็กดีสร้างได้ส่งเสริมคุณธรรมในสถานศึกษา
โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๑๐๒ (บ้านเกาะเต่า) อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง
ผู้ประเมิน นายพงศ์ชิตพล คงรอด
สถานศึกษา โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๑๐๒ (บ้านเกาะเต่า) อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง
ปีที่ประเมิน พ.ศ. 2563
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินผลโครงการเด็กดีสร้างได้ส่งเสริมคุณธรรมในสถานศึกษา โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๑๐๒ (บ้านเกาะเต่า) อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง จำนวน 4 ด้าน คือ ความเหมาะสมของบริบท ความเหมาะสมของปัจจัยนำเข้า ความเหมาะสมของกระบวนการดำเนินงาน และผลผลิตของโครงการเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรมนักเรียน จำนวน 10 ด้าน ได้แก่ ความมีวินัย ความรับผิดชอบ ความขยัน ความซื่อสัตย์ ความมีสติและละเอียดรอบคอบ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเสียสละ ความสุภาพ ความยุติธรรม ความมีจิตสำนึกต่อส่วนรวม ความสามัคคี และประเมินคุณค่าและประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินโครงการ
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นครู นักเรียน ผู้ปกครองนักเรียนและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๑๐๒ (บ้านเกาะเต่า) ปีการศึกษา 2563 จำนวน 251 คน จำแนกเป็นครู จำนวน 13 คน นักเรียน จำนวน 169 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 9 คน ผู้ปกครองนักเรียนจำนวน 60 คน และซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบง่าย (Sample Random Sampling)
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาเป็นแบบสอบถามที่ผู้รายงานได้สร้างขึ้น แบ่งเป็น 5 ชุด ดังนี้ ชุดที่ 1 มีข้อคำถาม 12 ข้อ ชุดที่ 2 มีข้อคำถาม 12 ข้อ ชุดที่ 3 มีข้อคำถาม 12 ข้อ ชุดที่ 4 มีข้อคำถาม 10 ข้อ และ ชุดที่ 5 มีข้อคำถาม 10 ข้อ โดยข้อคำถามเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมิน พบว่า
1. บริบทของโครงการมีความเหมาะสม ในภาพรวม อยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อ อยู่ในระดับมากที่สุด 12 ข้อ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ โครงการมีความเหมาะสมและมีความจำเป็นในการแก้ปัญหา โครงการสามารถแก้ปัญหาคุณธรรมจริยธรรมนักเรียนได้ กิจกรรมของโครงการสามารถนำไปปฏิบัติจริงได้ กิจกรรมของโครงการช่วยให้นักเรียนมีการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมให้ดีขึ้น และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการกำหนดวัตถุประสงค์และวิธีดำเนินโครงการ มีค่าเฉลี่ย 4.83 ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ โครงการสอดคล้องกับความต้องการของครู ผู้ปกครองและชุมชน มีค่าเฉลี่ย 4.68
2. ปัจจัยนำเข้าของโครงการมีความเหมาะสม ในภาพรวม อยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า ระดับความเหมาะสมของโครงการอยู่ในระดับมากที่สุดจำนวน 12 ข้อ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ ผู้บริหารและครูผู้รับผิดชอบมีความพร้อมในการดำเนินโครงการ ผู้บริหารและครูผู้รับผิดชอบมีความรู้ความเข้าใจและมีความสามารถในการดำเนินโครงการ เอกสารที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมในโครงการมีความเหมาะสมและเพียงพอ และเอกสารที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมในโครงการช่วยให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องคุณธรรมจริยธรรม มีค่าเฉลี่ย 4.83 ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ ระยะเวลาในการดำเนินโครงการมีความเหมาะสม ค่าเฉลี่ย 4.68
3. กระบวนการดำเนินงานตามโครงการมีความเหมาะสม อยู่ในระดับมากที่สุดทั้ง 12 ข้อ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ ขณะดำเนินงานตามโครงการมีการแก้ไขปรับปรุงวิธีการดำเนินโครงการเมื่อพบว่าบกพร่อง และโรงเรียนมีการเผยแพร่และขยายผลการปฏิบัติกิจกรรมสู่ชุมชน มีค่าเฉลี่ย 5.00 ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ มีการกำหนดหลักเกณฑ์และระยะเวลาในการประเมินผลโครงการตามความเหมาะสม มีค่าเฉลี่ย 4.87
4. ผลผลิตของโครงการเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรมนักเรียน ในภาพรวม อยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน และด้านที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ ความสุภาพ มีค่าเฉลี่ย 4.85 ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ ความรับผิดชอบและความยุติธรรม ค่าเฉลี่ย 4.67
5. คุณค่าและประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ ในภาพรวม อยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า อยู่ในระดับมากที่สุด จำนวน 12 ข้อ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ กิจกรรมของโครงการสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ สิ่งแวดล้อม และระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ของสังคมได้ ค่าเฉลี่ย 4.92 ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ นักเรียนสามารถรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ และนำมาปรับและประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ค่าเฉลี่ย 4.75