การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วยการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะฯ
ชื่อเรื่อง การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วยการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ 5 ขั้น (5Es) ร่วมกับการจัดการ
เรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD ในรายวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรื่อง หินในท้องถิ่น สำหรับ
นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ผู้วิจัย ทินลัคน์ บัวทอง
คำสำคัญ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การสืบเสาะหาความรู้ 5 ขั้น กลุ่มร่วมมือเทคนิค STAD
บทคัดย่อ
การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วยการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ 5 ขั้น (5Es) ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD ในรายวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรื่อง หินในท้องถิ่น สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีจุดมุ่งหมายเพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรื่อง หินในท้องถิ่น ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก่อนและหลังได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ 5 ขั้น (5Es) ร่วมกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD
ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านป่ายางตะวันตก อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 16 คน ศึกษากับทั้งกลุ่มประชากร โดยเครื่องมือที่ใช้ในการทำวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วย 1. แผนการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรื่อง หินในท้องถิ่น สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 5 แผนการจัดการเรียนรู้ 2. แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนในรายวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรื่อง หินในท้องถิ่น สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ลักษณะของแบบทดสอบเป็นแบบปรนัยชนิด 4 ตัวเลือก จำนวน 20 ข้อ ระยะเวลาในการวิจัย 4 สัปดาห์ รวมทั้งสิ้น 14 คาบเรียน แบบแผนการวิจัยที่ใช้เป็นแบบแผนการวิจัยเชิงทดลองแบบกลุ่มเดียววัดผลก่อนและหลังการทดลอง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบทีแบบสองกลุ่มสัมพันธ์ (Dependent samples t-test) เพื่อใช้ในการรายงานผลการวิจัย
จากการวิจัยพบว่า ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในรายวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรื่อง หินในท้องถิ่น ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ 5 ขั้น (5Es) ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD พบว่ามีค่าเฉลี่ยคะแนนสอบหลังเรียน (¯x = 13.50) สูงกว่าค่าเฉลี่ยคะแนนสอบก่อนเรียน (¯x = 6.75) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05