รายงานผลการพัฒนาความสามารถในการคิดแก้ปัญหา และการแสวงหาความรู้
โดยการจัดประสบการณ์แบบสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry cycle)
ของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2
ผู้วิจัย นางวีรยา ดิษเหมือน ตำแหน่งครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนเทศบาล ๑ (ขจรเนติยุทธ) เทศบาลเมืองลำสามแก้ว
จังหวัดปทุมธานี
ปีวิจัย 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาความสามารถในการคิดแก้ปัญหา ของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 โดยการจัดประสบการณ์แบบสืบเสาะหาความรู้ ให้จำนวนเด็กปฐมวัยไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของเด็กปฐมวัยทั้งหมด มีความสามารถในการคิดแก้ปัญหา เฉลี่ย ตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป 2) เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการคิดแก้ปัญหา โดยการจัดประสบการณ์แบบสืบเสาะหาความรู้ของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์โดยการจัดประสบการณ์แบบสืบเสาะหาความรู้ ของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้คือ เด็กชาย – หญิง ที่กำลังศึกษาชั้นอนุบาลปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนเทศบาล ๑ (ขจรเนติยุทธ) เทศบาลเมืองลำสามแก้ว จังหวัดปทุมธานี ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบกลุ่ม (Cluster Sampling) ได้เด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2/2 จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แผนการจัดประสบการณ์แบบสืบเสาะหาความรู้ จำนวน 30 แผน 2) แบบทดสอบความสามารถในการคิดแก้ปัญหา เป็นข้อสอบแบบรูปภาพ จำนวน 35 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การเปรียบเทียบความสามารถในการคิดแก้ปัญหา ระหว่างคะแนนทดสอบก่อนเรียน และหลังเรียนด้วย t- test
ผลการวิจัยปรากฏ ดังนี้
1. ความสามารถในการคิดแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 โดยการจัดประสบการณ์แบบสืบเสาะหาความรู้ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 70 มีจำนวน 30 คน คิดเป็นร้อยละ 100 ของจำนวนเด็กปฐมวัยทั้งหมด คะแนนความสามารถในการคิดแก้ปัญหาโดยการจัดประสบการณ์แบบสืบเสาะหาความรู้มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 30.87 จากคะแนนเต็ม 35 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 88.19 ซึ่งจำนวนเด็กปฐมวัยและคะแนนที่ได้สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ นักเรียนจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 มีคะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป
2. ผลการเปรียบเทียบความสามารถในการคิดแก้ปัญหา โดยการจัดประสบการณ์แบบสืบเสาะหาความรู้ของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์โดยการจัดประสบการณ์แบบสืบเสาะหาความรู้ ของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 พบว่า ความสามารถในการคิดแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 โดยการจัดประสบการณ์แบบสืบเสาะหาความรู้โดยจำแนกเป็นรายด้าน ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ การคิดแก้ปัญหาของตนเอง การคิดแก้ปัญหาของตนเองที่เกี่ยวข้องกับคนอื่น การคิดแก้ปัญหาของผู้อื่นและการคิดแก้ปัญหาของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก่อนการทดลองและหลังการทดลอง แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 มีความสามารถในการคิดแก้ปัญหาหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน