การพัฒนาบุคลากรโรงเรียนบ้านกันตรวจเรื่องการจัดการเรียนรู้เชิงรุก
โดยใช้กระบวนการนิเทศแบบกัลยาณมิตร
ผู้วิจัย นางสาวนราธิป สมพงษ์
ปีที่วิจัย ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ 1) เพื่อศึกษาผลการพัฒนาบุคลากรโรงเรียนบ้านกันตรวจ เรื่องการจัดการเรียนรู้เชิงรุกโดยใช้กระบวนการนิเทศแบบกัลยาณมิตร 2) เพื่อเปรียบเทียบความรู้ความเข้าใจเรื่องการจัดการเรียนรู้เชิงรุกก่อนและหลังการพัฒนาบุคลากรโดยใช้กระบวนการนิเทศแบบกัลยาณมิตร 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจต่อการพัฒนาบุคลากรโรงเรียนบ้านกันตรวจ เรื่องการจัดการเรียนรู้เชิงรุกโดยใช้กระบวนการนิเทศแบบกัลยาณมิตร
การวิจัยครั้งนี้ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการประกอบด้วย 4 ขั้นคือ ขั้นวางแผน ขั้นปฏิบัติการ ขั้นสังเกตการณ์ และขั้นสะท้อนผล ซึ่งผู้วิจัยได้ดำเนินการพัฒนา 2 วงรอบ และได้ออกแบบการวิจัยเป็นแบบสอบวัดผลก่อนและหลังปฏิบัติการ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ บุคลากรโรงเรียนบ้านกันตรวจ อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ ปีการศึกษา 2563 จำนวน 8 คน ระยะเวลาในการดำเนินการวิจัย ระหว่างวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 โดยแบ่งเป็น 2 วงรอบ วงรอบที่ 1 ระหว่างวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 วงรอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ คือ 1) แบบทดสอบความรู้ความเข้าใจเรื่องการจัดการเรียนรู้เชิงรุก จำนวน 20 ข้อ 2) แบบประเมินความสามารถในการจัดการเรียนรู้เชิงรุก 3) แบบบันทึกการสนทนาทางวิชาการ จำนวน 2 ฉบับ ฉบับที่ 1 ใช้บันทึกการสนทนาทางวิชาการเพื่อการสะท้อนผลหลังจากดำเนินการพัฒนาบุคลากรในวงรอบที่ 1 ฉบับที่ 2 ใช้บันทึกการสนทนาทางวิชาการ เพื่อการสะท้อนผลหลังจากดำเนินการพัฒนานาบุคลากรในวงรอบที่ 2 4) แบบวัดความพึงพอใจของบุคลากร จำนวน 1 ฉบับ
การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ วิเคราะห์โดยการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ตีความ สรุป และรายงานผลในลักษณะบรรยาย การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณวิเคราะห์โดยใช้สถิติพื้นฐาน ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ร้อยละ และสถิติ Nonparametrics การทดสอบลำดับพิสัย Wilcoxon ซึ่งวิเคราะห์โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป
ผลการวิจัยพบว่า
1. เมื่อดำเนินการพัฒนาบุคลากรในวงรอบที่ 1 เสร็จสิ้น พบว่าโดยภาพรวมบุคลากรสามารถดำเนินการจัดการเรียนรู้เชิงรุกได้ในระดับดี (= 3.98) โดยจำแนกเป็นความสามารถในการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ได้ในระดับดี ( = 3.98) และความสามารถดำเนินการจัดการเรียนรู้เชิงรุกได้ในระดับดี ( = 3.60) เมื่อสิ้นสุดการพัฒนาบุคลากรในวงรอบที่ 2 พบว่า โดยภาพรวมโดยภาพรวมบุคลากรสามารถดำเนินการจัดการเรียนรู้เชิงรุกได้ในระดับดีมาก ( = 4.88) โดยจำแนกเป็นความสามารถในการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ได้ในระดับดีมาก ( = 4.98) และความสามารถดำเนินการจัดการเรียนรู้เชิงรุกได้ในระดับดีมาก ( = 4.83)
การพัฒนาบุคลากรโรงเรียนบ้านกันตรวจ เรื่องการจัดการเรียนรู้เชิงรุก โดยใช้กระบวนการนิเทศแบบกัลยาณมิตร ทำให้ได้รูปแบบการพัฒนาบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ ผู้บริหารพัฒนาบุคลากรโดยการนิเทศภายในแบบกัลยาณมิตร มีการนิเทศติดตามแบบพี่เลี้ยงโดยผู้บริหารและวิทยากรนิเทศที่มีความชำนาญเรื่องการจัดการเรียนรู้เชิงรุก เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความก้าวหน้า ฝึกให้บุคลากรรู้จักวิพากษ์วิจารณ์ผลงานของผู้อื่น และยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์จากผู้บริหาร วิทยากรนิเทศและเพื่อนร่วมงาน ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ภายในสถานศึกษา สถานศึกษาเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้บุคลากรปฏิบัติงานได้ประสบผลสำเร็จคือ บรรยากาศในสถานศึกษา ซึ่งบรรยากาศในสถานศึกษา ได้แก่ สภาพแวดล้อมของสถานศึกษาที่เอื้อต่อการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากร ซึ่งมีความหมายรวมถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารกับครู ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับวิทยากร และปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูที่มีความเป็นกัลยาณมิตรต่อกันด้วย
2. การทดสอบความรู้ความเข้าใจของบุคลากรหลังการพัฒนาบุคลากร ผลปรากฏว่าบุคลากรทุกคน มีคะแนนความรู้ความเข้าใจผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ (ร้อยละ 75ของคะแนนเต็ม) เมื่อเปรียบเทียบความรู้ความเข้าใจก่อนและหลังการพัฒนาบุคลากร พบว่าบุคลากรมีคะแนนเฉลี่ยความรู้ความเข้าใจหลังการพัฒนาบุคลากร ( = 18.25) สูงกว่าก่อนการพัฒนาบุคลากร ( = 11.00) เมื่อทดสอบความแตกต่างระหว่างก่อนและหลังการพัฒนาบุคลากร พบว่าบุคลากรมีความรู้ความเข้าใจหลังการพัฒนาบุคลากรสูงกว่าก่อนการพัฒนาบุคลากรอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. บุคลากรมีความพึงพอใจต่อการพัฒนาบุคลากรโรงเรียนบ้านกันตรวจ เรื่องการจัดการเรียนรู้เชิงรุกโดยใช้กระบวนการนิเทศแบบกัลยาณมิตร อยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.86)