การบริหารจัดการด้วย ARSA Model เพื่อพัฒนาจิตสาธารณะของนักเรียน
การบริหารจัดการด้วย ARSA Model เพื่อพัฒนาจิตสาธารณะของนักเรียนโรงเรียนบ้านสำนักม่วง มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมจิตสาธารณะของนักเรียนโรงเรียนบ้านสำนักม่วงก่อนและหลังใช้การบริหารจัดการด้วย ARSA Model
2. เพื่อศึกษาความพึงพอใจต่อการบริหารจัดการด้วย ARSA Model เพื่อพัฒนาจิตสาธารณะ
ของนักเรียนโรงเรียนบ้านสำนักม่วง กลุ่มตัวอย่างในการศึกษา คือ นักเรียน จำนวน 89 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ประกอบด้วย แบบประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์และแบบสอบถามความพึงพอใจ เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าเฉลี่ย ร้อยละ และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ผลการศึกษาพบว่า 1.การเปรียบเทียบพฤติกรรมด้านจิตสาธารณะของนักเรียนโรงเรียนบ้านสำนักม่วง โดยภาพรวม ระหว่างก่อนและหลังการใช้การบริหารจัดการด้วย ARSA Model พบว่าหลังการใช้รูปแบบการบริหารจัดการด้วย ARSA Model นักเรียนมีระดับพฤติกรรมด้านจิตสาธารณะ (คะแนนทีเฉลี่ย 59.06) สูงกว่าก่อนใช้ (คะแนนทีเฉลี่ย 40.94) จำแนกตามพฤติกรรมบ่งชี้ พบว่า ตัวชี้วัดที่ 1 ช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความเต็มใจและพึงพอใจโดยไม่หวังผลตอบแทน พฤติกรรมที่มีการพัฒนามากที่สุด คือ การอาสาทำงานให้ผู้อื่นด้วยกำลังกาย กำลังใจ และกำลังสติปัญญาโดยไม่หวังผลตอบแทน (ร้อยละ 37.08) และตัวชี้วัดที่ 2 เข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อโรงเรียน ชุมชนและสังคม พฤติกรรมที่มีการพัฒนามากที่สุด คือ ดูแลรักษาสาธารณสมบัติและสิ่งแวดล้อมด้วยความเต็มใจ และเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อแก้ปัญหาหรือร่วมสร้างสิ่งที่ดีงามของส่วนรวมตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยความกระตือรือร้น (ร้อยละ 38.58) 2.ความพึงพอใจต่อการบริหารจัดการด้วย ARSA Model เพื่อพัฒนาจิตสาธารณะของนักเรียนโรงเรียนบ้านสำนักม่วง โดยภาพรวมพบว่าระดับความพึงพอใจของผู้ตอบแบบสอบถามอยู่ในระดับมากที่สุด (ร้อยละ 99.54) เมื่อจำแนกรายข้อพบว่าทุกข้ออยู่ในระดับมากที่สุดเช่นกัน