การพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมบูรณาการ
ชื่อผู้วิจัย สุรภา นิลยกานนท์
ปีที่ศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานและความต้องการในการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้บูรณาการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 2) เพื่อสร้างรูปแบบการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมบูรณาการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมบูรณาการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 4) เพื่อประเมินผลและปรับปรุงแก้ไขรูปแบบการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมบูรณาการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยและพัฒนา (Research and development) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย เป็นครู จำนวน 48 คน และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา จำนวน 234 คน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติ t – test (dependent) และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. การวิจัยพบว่าการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานและความต้องการควรกำหนดนโยบายส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง การจัดการศึกษาควรให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม และเร่งส่งเสริมการเรียนการสอนโดยบูรณาการการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 กับงานวิชาการของโรงเรียน ผลที่ได้จากการพัฒนาครูให้มีความรู้ความสามารถจึงย้อนกลับลงไปสู่ที่ผู้เรียนอย่างแท้จริง
2. รูปแบบการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมบูรณาการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ใช้รูปแบบ “OAPDN Model” ประกอบด้วย 1) การสังเกต การสอน 2) การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน 3) การพัฒนาครู 4) การเผยแพร่ขยายผลลงสู่ผู้เรียน 5) เครือข่ายวิชาการ การประเมินความเหมาะสมของรูปแบบมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก การสะท้อนความคิดเห็นโดยการจัดสัมมนาอิงผู้เชี่ยวชาญ เห็นชอบกับรูปแบบการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมบูรณาการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน โดยเร่งพัฒนาครูให้มีความรู้ความสามารถด้านทักษะการจัดการเรียนรู้ของครูตามการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้นำมาพัฒนาลงที่ตัวนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมบูรณาการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนการเปรียบเทียบก่อนและหลังการอบรมมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 5.95 และ 16.45 เมื่อเปรียบเทียบคะแนนมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. ผลการประเมินผลและปรับปรุงแก้ไขรูปแบบการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมบูรณาการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนทั้งโดยรวมและรายข้อ อยู่ในระดับมาก