การประเมินโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์
โรงเรียนราษฎร์บำรุง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1
ชื่อผู้ประเมิน : นางสาวสุรีพร ทิพย์ยาน
ปีที่ประเมิน : ปีการศึกษา 2563
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ โรงเรียนราษฎร์บำรุง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1 ประเมินโดยใช้รูปแบบซิปป์ (CIPPเModel)เประเมินโครงการในด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิตเโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินบริบท (ContextเEvaluation) เกี่ยวกับความต้องการจำเป็น ความสอดคล้องของวัตถุประสงค์กับนโยบายและความต้องการของสถานศึกษา ความชัดเจนของวัตถุประสงค์ ความเป็นไปได้ของโครงการ และความสอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด 2) ประเมินปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) เกี่ยวกับความพร้อมของบุคลากร งบประมาณ สถานที่ ความเพียงพอของสื่อและวัสดุอุปกรณ์ และระบบบริหารที่เอื้อต่อการดำเนินงานโครงการ 3) ประเมินกระบวนการ (Process Evaluation) เกี่ยวกับการวางแผนดำเนินงาน การดำเนินการในแต่ละกิจกรรม การนิเทศกำกับติดตาม การประเมินผล การสรุปและรายงานผล 4) ประเมินผลผลิต (Product Evaluation) เกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ จำนวน 3 ด้าน ได้แก่ คุณธรรมการพัฒนาตนเอง คุณธรรมพัฒนาการทำงาน และคุณธรรมพัฒนาการอยู่ร่วมกันในสังคม และประเมินความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้องกับโครงการ
ประชากรที่ใช้ในการประเมินโครงการ ได้แก่ นักเรียน ครู ผู้ปกครองและกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนราษฎร์บำรุง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1 ในปีการศึกษา 2563 รวมทั้งสิ้น จำนวน 128 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินโครงการได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง (PurposiveเRandom Sampling) จำนวน 52 คน ได้แก่ 1) ครู จำนวน 5 คน 2) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - 6 จำนวน 20 คน 3) ผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - 6 จำนวน 20 คน 4) กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน (ไม่นับรวมตัวแทนครูและผู้บริหารโรงเรียน)
เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการเป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 4 ฉบับ ดังนี้ 1) แบบสอบถามประเมินด้านบริบท และปัจจัย ประเมินก่อนการดำเนินงานโครงการ 2) แบบสอบถามประเมินกระบวนการดำเนินงานโครงการ 3) แบบสอบถามประเมินผลผลิตเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ของนักเรียน 4) แบบสอบถามความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงานโครงการ
การเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการตรวจสอบเอกสารหลักฐาน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ด้วยค่าสถิติ ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS for Windows 16.0 ผลการประเมินสรุปได้ดังนี้
ผลการประเมิน
โครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ โรงเรียนราษฎร์บำรุง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1 มีผลการประเมินสามารถสรุปได้ดังนี้
1. ผลการประเมินบริบทของโครงการโดยการประเมิน 5 ตัวชี้วัด โดยรวมบริบทของโครงการมีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดทั้ง 5 ตัวชี้วัด เมื่อพิจารณารายละเอียดของแต่ละตัวชี้วัดโดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อยพบว่า ความสอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด มีความเหมาะสมมากที่สุด รองลงมาคือ ความต้องการจำเป็นของโครงการ ความสอดคล้องของวัตถุประสงค์กับนโยบายและความต้องการของสถานศึกษา ความชัดเจนของวัตถุประสงค์ และความเป็นไปได้ของโครงการ ตามลำดับ
2. ผลการประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการ โดยประเมิน 5 ตัวชี้วัดพบว่า โดยรวมปัจจัยนำเข้าของโครงการมีความพร้อมอยู่ในระดับมากที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดทั้ง 5 ตัวชี้วัด เมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดของแต่ละตัวชี้วัดโดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อยพบว่า ด้านบุคลากร มีความเหมาะสมมากที่สุด รองลงมาคือ ด้านสถานที่ ด้านระบบบริหารที่เอื้อต่อการดำเนินงานโครงการ ด้านสื่อและวัสดุอุปกรณ์ และด้านงบประมาณ ตามลำดับ
3. ผลการประเมินกระบวนการของโครงการโดยประเมิน 5 ตัวชี้วัดพบว่า โดยรวมกระบวนการดำเนินงานของโครงการมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด และผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดทั้ง 5 ตัวชี้วัด เมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดของแต่ละตัวชี้วัดโดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อยพบว่า ด้านการวางแผนดำเนินงาน มีความเหมาะสมมากที่สุด รองลงมาได้แก่ ด้านการสรุปและรายงานผล ด้านการดำเนินการในแต่ละกิจกรรม ด้านการประเมินผล และด้านการนิเทศกำกับติดตาม ตามลำดับ
4. ผลการประเมินผลผลิตของโครงการโดยประเมิน 3 ตัวชี้วัดพบว่า โดยรวมนักเรียนมีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนด และอยู่ในระดับมากที่สุดทุกตัวชี้วัด เมื่อพิจารณารายละเอียดตามตัวชี้วัดเรียงลำดับจากมากไปน้อยพบว่า คุณธรรมพัฒนาการอยู่ร่วมกันในสังคม มีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคือ คุณธรรมพัฒนาการทำงาน และคุณธรรมการพัฒนาตนเอง ตามลำดับ ความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อโครงการพบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดและอยู่ในระดับมากที่สุด
ดังนั้น จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะให้มีการดำเนินงานตามโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ โรงเรียนราษฎร์บำรุง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1 ต่อไป ทั้งนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องตระหนักและเห็นความสำคัญ ให้ความร่วมมือ สนับสนุนอย่างจริงจัง มีการกำกับติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินงานโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ