การประเมินโครงการการดำเนินงานตามระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน
ชื่อผู้ประเมิน : ว่าที่ร้อยตรีหญิงจิราพร สุขวงศ์
ตำแหน่ง : ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองแขม
ปีที่ประเมิน : 2563
บทคัดย่อ
การประเมินครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินโครงการการดำเนินงานตามระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองแขม ด้วยรูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบุรี เขต 2 ใน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1) การประเมินด้านสภาพแวดล้อม (Context Evaluation) 2) การประเมินด้านปัจจัย (Input Evaluation) 3) การประเมินด้านกระบวนการ (Process Evaluation) และ4) การประเมินด้านผลผลิตของโครงการ (Product Evaluation)
ประชากร ที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ คือ ครูโรงเรียนบ้านหนองแขม ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้รับผิดชอบโครงการ และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียนและผู้ปกครองนักเรียน ใช้ประชากร รวมทั้งสิ้น 108 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล มี 2 รูปแบบคือ 1) แบบสอบถามแบบมาตราประมาณค่า 5 ระดับ (Rating Scale) และ 2) แบบประเมินระดับคุณภาพ แบบมาตราประมาณค่า 4 ระดับ ได้รับแบบสอบถามและแบบประเมินกลับคืนจำนวน 108 ฉบับ คิดเป็นร้อยละ 100 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
ผลการประเมินพบว่า
การประเมินโครงการการดำเนินงานตามระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองแขม ด้วยรูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบุรี เขต 2 โดยภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมินตามที่กำหนดไว้ และอยู่ในระดับมาก แยกประเด็นการประเมินทั้ง 4 ประเด็นได้ ดังนี้
1) ผลการประเมินด้านสภาพแวดล้อมของโครงการ ผ่านเกณฑ์การประเมิน และมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของตัวชี้วัดทั้ง 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ ด้านความต้องการจำเป็นของการดำเนินโครงการ ด้านความสอดคล้องเหมาะสมของการดำเนินโครงการ และ ด้านความเป็นไปได้ของวัตถุประสงค์ พบว่า อยู่ในระดับมากที่สุด
2) ผลการประเมินด้านปัจจัยของโครงการ ผ่านเกณฑ์การประเมิน และมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาผลการประเมินในระดับตัวชี้วัดทั้ง 5 ตัวชี้วัด พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมากที่สุด 2 ตัวชี้วัด ได้แก่ ด้านการจัดองค์กรและโครงสร้างการบริหารงาน และด้านแนวทางการดำเนินโครงการ ส่วนอีก 3 ตัวชี้วัด ผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมากได้แก่ ความรู้ความเข้าใจของครูในการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ความชัดเจนของงบประมาณ และความเพียงพอของวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ
3) ผลการประเมินด้านกระบวนการของโครงการ ผ่านเกณฑ์การประเมิน และมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาผลการประเมินในระดับตัวชี้วัดทั้ง 5 ตัวชี้วัด พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมากที่สุด 2 ตัวชี้วัด ได้แก่ การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล และ ด้านการป้องกันช่วยเหลือและแก้ไข ส่วนตัวชี้วัดด้าน การคัดกรองนักเรียน การส่งเสริมและพัฒนานักเรียน และการส่งต่อนักเรียน ผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมาก
4) ผลการประเมินด้านผลผลิตของโครงการ ผ่านเกณฑ์การประเมิน และมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาผลการประเมินในระดับตัวชี้วัด พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมากทั้ง 2 ตัวชี้วัด ดังนี้
4.1) คุณภาพการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน พบว่าโดยภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมิน และอยู่ในระดับดีเด่น ทั้ง 3 รายการ เมื่อพิจารณาแต่ละรายการ พบว่า มาตรฐานด้านกระบวนการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน มีระดับคุณภาพสูงสุด
4.2) การมีส่วนร่วมในการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน พบว่า โดยภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมิน และอยู่ในระดับมาก ทั้ง 4 รายการ เมื่อพิจารณาแต่ละรายการพบว่า ผู้ปกครองนักเรียน มีส่วนร่วมในการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอยู่ในระดับมากที่สุด