รายงานการพัฒนาหนังสืออ่านเพิ่มเติม
ผู้ศึกษา นางจันทร์หอม อันน้อยนนท์
สถานศึกษา โรงเรียนบ้านขามป้อม อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขต 2
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีความมุ่งหมาย 1) เพื่อสร้างหนังสืออ่านเพิ่มเติม กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อหาค่าดัชนีประสิทธิผลของหนังสืออ่านเพิ่มเติม กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 3) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างคะแนนทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยหนังสืออ่านเพิ่มเติม กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยหนังสืออ่านเพิ่มเติมกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านขามป้อม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขต 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 จำนวน 5 คน ใช้เวลาในการทดลอง 15 ชั่วโมง เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ หนังสืออ่านเพิ่มเติม แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 30 ข้อ มีค่าความยาก (p) มีค่าตั้งแต่ 0.50 ถึง 0.77 และค่าอำนาจจำแนก (r) มีค่าตั้งแต่0.22 ถึง 0.61มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ (rtt) เท่ากับ 0.92 และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน จำนวน 10 ข้อสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและดัชนีประสิทธิผล
ผลการศึกษาพบว่า
1. หนังสืออ่านเพิ่มเติม กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
มีประสิทธิภาพ 84.40/86.00 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80
2. ดัชนีประสิทธิผลหนังสืออ่านเพิ่มเติม กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีค่าเท่ากับ 0.7237 ซึ่งแสดงว่า ผู้เรียนมีความรู้เพิ่มขึ้นร้อยละ72.37
3. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนด้วยหนังสืออ่านเพิ่มเติม กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนรู้ด้วยหนังสืออ่านเพิ่มเติม กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (X =4.56) เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า นักเรียนมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุดจำนวน 7 ข้อ นอกนั้นมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก
จากการศึกษาครั้งนี้พบว่าหนังสืออ่านเพิ่มเติม กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีความเหมาะสมที่จะนำไปพัฒนาการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ