การพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ในการเรียนรายวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่จัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับเทคนิค STAD
ผู้วิจัย นางสาวเสาวลี แจ้งใจดี
สถานที่ทำงาน โรงเรียนกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี สังกัดมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ
ปีที่ทำการวิจัย ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์การวิจัย เพื่อ 1) เปรียบเทียบผลการเรียนรู้รายวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา เรื่อง การทดสอบสมรรถภาพทางกายและโภชนาการทางการกีฬา ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับเทคนิค STAD 2) ศึกษาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 หลังการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับเทคนิค STAD 3) เปรียบเทียบทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 หลังการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับเทคนิค STAD เทียบกับเกณฑ์ร้อยละ 70 และ 4) ศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับเทคนิค STAD การวิจัยครั้งนี้เป็นวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) โดยมีแบบแผนการวิจัยแบบกลุ่มเดียว วัดผลก่อนและหลังการทดลอง (The one group pretest – postest) โดยกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่กำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี โดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย (simple random sampling) ใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยในการสุ่ม คือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/1 จำนวนนักเรียน 24 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับเทคนิค STAD แบบทดสอบวัดผลการเรียนรู้ และแบบสอบถามความคิดเห็น การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที (t-test) แบบ Dependent
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการเรียนรู้รายวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา เรื่อง การทดสอบสมรรถภาพทางกายและโภชนาการทางการกีฬา ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่จัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับเทคนิค STAD หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีทักษะการคิดวิเคราะห์ หลังการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับเทคนิค STAD อยู่ในระดับดี
3. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีทักษะการคิดวิเคราะห์ หลังการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับเทคนิค STAD สูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 70
4. ความคิดเห็นของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานร่วมกับเทคนิค STAD โดยภาพรวมอยู่ในระดับเห็นด้วยมาก