การประเมินโครงการพัฒนาจิตสาธารณะของนักเรียนโรงเรียนบ้านคดศอก
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1
ชื่อผู้ประเมิน : นรมน แก้ววิเชียร
ปีที่ประเมิน : ปีการศึกษา 2563
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการพัฒนาจิตสาธารณะของนักเรียนโรงเรียนบ้านคดศอก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1 ประเมินโดยใช้รูปแบบซิปป์ (CIPP Model) ประเมินโครงการในด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินบริบท (Context Evaluation) เกี่ยวกับความต้องการจำเป็นของการดำเนินงานโครงการ ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของวัตถุประสงค์ ความเหมาะสมของกิจกรรม และความสอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด 2) ประเมินปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) เกี่ยวกับความพร้อมของบุคลากร งบประมาณ สถานที่ สื่อและวัสดุอุปกรณ์ 3) ประเมินกระบวนการ (Process Evaluation) เกี่ยวกับการเตรียมการ การวางแผนการดำเนินกิจกรรม การดำเนินกิจกรรมตามแผนที่กำหนดไว้ การนิเทศกำกับติดตามการดำเนินงาน การประเมินผลการจัดกิจกรรม และการสรุปและรายงานผลโครงการ 4) ประเมินผลผลิต (Product Evaluation) เกี่ยวกับการมีจิตสาธารณะของนักเรียนเพฤติกรรมการมีจิตสาธารณะ และด้านความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ
ประชากรที่ใช้ในการประเมินโครงการ ได้แก่ นักเรียน ครู ผู้ปกครอง และกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนบ้านคดศอก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1 ปีการศึกษา 2563 รวมทั้งสิ้น จำนวน 59 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินโครงการได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Random Sampling) จำนวน 41 คน ประกอบด้วย 1) ครู จำนวน 4 คน 2) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - 6 จำนวน 16 คน 4) ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 14 คน 5) กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน (ไม่รวมตัวแทนครู และผู้บริหารโรงเรียน)
เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการเป็นแบบสอบถามมาตรประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 6 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 1 แบบสอบถามประเมินบริบทของโครงการ จำนวน 4 ตัวชี้วัด ฉบับที่ 2 แบบสอบถามประเมินปัจจัยนำเข้า จำนวน 4 ตัวชี้วัด ฉบับที่ 3 แบบสอบถามประเมินกระบวนการ จำนวน 6 ตัวชี้วัด ฉบับที่ 4 แบบสอบถามประเมินผลผลิตเกี่ยวกับการมีจิตสาธารณะของนักเรียน จำนวน 3 ตัวชี้วัด ฉบับที่ 5 แบบวัดพฤติกรรมการมีจิตสาธารณะของนักเรียน ฉบับที่ 6 แบบสอบถามประเมินความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการ
การเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการตรวจสอบเอกสารหลักฐาน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ด้วยค่าสถิติ ร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS for Windows 16.0 ผลการประเมินและข้อเสนอแนะสรุปได้ดังนี้
ผลการประเมิน
1. ผลการประเมินบริบทของโครงการ ในภาพรวมมีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด โดยทั้ง 4 ตัวชี้วัดพบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดและอยู่ในระดับมากที่สุดทุกตัวชี้วัด โดยความสอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัดมีความเหมาะสมมากที่สุด รองลงมาคือความต้องการจำเป็นของโครงการ ความเหมาะสมของกิจกรรมในการดำเนินงานโครงการ ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของวัตถุประสงค์ ตามลำดับ
2. ผลการประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการ ในภาพรวมมีความพร้อมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยทั้ง 4 ตัวชี้วัดพบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนด และอยู่ในระดับมากที่สุด ทุกตัวชี้วัดเโดยด้านสื่อและวัสดุอุปกรณ์มีความเหมาะสมมากที่สุด รองลงมาคือด้านสถานที่ ด้านบุคลากร และด้านงบประมาณ ตามลำดับ
3. ผลการประเมินกระบวนการของโครงการ ในภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยทั้ง 6 ตัวชี้วัดพบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดและอยู่ในระดับมากที่สุดทุกตัวชี้วัด ด้านการวางแผนการดำเนินกิจกรรมอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคือ ด้านการดำเนินกิจกรรมตามแผนที่กำหนดไว้ ด้านการสรุปและรายงานผลโครงการ ด้านการเตรียมการ และด้านการประเมินผลการจัดกิจกรรมโครงการ และด้านการนิเทศกำกับติดตามการดำเนินงานโครงการ ตามลำดับ
4. ผลการประเมินผลผลิตของโครงการพบว่า ในภาพรวมนักเรียนโรงเรียนบ้านคดศอก มีคุณลักษณะด้านจิตสาธารณะผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดและอยู่ในระดับมากที่สุด โดยการมีจิตสาธารณะของนักเรียนมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคือความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และพฤติกรรมการมีจิตสาธารณะของนักเรียนตามลำดับ
การประเมินด้านการมีจิตสาธารณะของนักเรียนโรงเรียนบ้านคดศอก จำนวน 3 ตัวชี้วัด พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 3 ตัวชี้วัด โดยภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดของแต่ละตัวชี้วัดโดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อยพบว่า การมีจิตสาธารณะต่อตนเองมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคือการมีจิตสาธารณะต่อครอบครัว และการมีจิตสาธารณะต่อสังคม ตามลำดับ
การประเมินด้านพฤติกรรมการมีจิตสาธารณะของนักเรียนโรงเรียนบ้านคดศอก พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกตัวชี้วัด โดยภาพรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายละเอียดของแต่ละตัวชี้วัดพบว่า การมีได้ร่วมกิจกรรมจิตอาสาทำให้นักเรียนรู้สึกมีคุณค่าและภาคภูมิใจในตัวเองมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคือนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือสังคมที่ทางโรงเรียนจัดขึ้น และนักเรียนช่วยทำความสะอาดห้องเรียนและบริเวณโรงเรียน ตามลำดับ
ความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้องต่อโครงการพัฒนาจิตสาธารณะของนักเรียนโรงเรียนบ้านคดศอก ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ โดยมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีความพึงพอใจต่อกิจกรรมการพัฒนาจิตสาธารณะที่หลากหลายให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาคือนักเรียนมีวินัยในตนเอง มีทักษะชีวิตสามารถดูแลช่วยเหลือตนเองได้ และครูสามารถให้คำปรึกษาและชี้แนะเกี่ยวกับการพัฒนาจิตสาธารณะได้ ตามลำดับ