บทความวิชาการ "พลังครูไทย วิถีใหม่ ฉลาดรู้เท่าทันดิจิตอล&qu
พุธศรี เกรียงศรี*
การเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม เทคโนโลยี และล่าสุดผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19 นำไปสู่ความปกติใหม่ (New normal) ของสังคม เป็นวิถีชีวิตในหลากหลายมิติของคนทั่วโลก ทำให้การศึกษาทั่วโลกต้องเผชิญกับภาวะของการปรับตัวครั้งใหญ่เช่นเดียวกัน เสมือนเป็นตัวเร่งให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนการสอนและการเรียนรู้ในยุคเปลี่ยนผ่านจากยุค (Analog) เข้าสู่ยุค (Digital) อย่างรวดเร็ว เพื่อให้สามารถสร้างผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการและบริบทของสังคมโลก
การศึกษาในยุคปัจจุบัน เป็นการจัดการศึกษาที่มุ่งสร้างผู้เรียนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทำให้ครูในสถานศึกษาปรับตัวไม่ทัน ไม่เข้าใจธรรมชาติผู้เรียน ไม่มีความรู้การจัดการเรียนรู้ยุคใหม่ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เน้นให้ผู้เรียนปฏิบัติ สร้างสรรค์ผลงาน เป็นการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (คุรุสภา,2564) การเข้าถึงองค์ความรู้ที่ง่ายขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ทำให้ครูต้องปรับเปลี่ยนกิจกรรมในการออกแบบการเรียนการสอนใหม่โดยให้บูรณาการระหว่างเนื้อหาสาระวิชา (Content Knowledge) เข้าด้วยกันให้สอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดในหลักสูตรที่กำหนด ครูจำเป็นจะต้องมีทักษะความรู้ในวิชาชีพ ทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ปัญญาประดิษฐ์ ย่อหลักสูตรให้สั้นจบให้เร็วโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการเรียนการสอนอย่างกว้างขวาง ครูต้องเปลี่ยนบทบาทจากให้ความรู้หน้าห้อง สอนให้เด็กเชื่อตามสิ่งที่ได้ฟังมา เป็นผู้คอยชี้แนะเชื่อมโยงองค์ความรู้ ช่วยเหลือให้คำปรึกษาผู้เรียน ฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ การคิดเชิงสร้างสรรค์ ทำงานร่วมกันเป็นทีม มีความมั่นใจในตนเอง แสวงหาความรู้ ให้รู้เท่าทันสารสนเทศในการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้ต้องไม่ใช่สถานการณ์สมมติในห้องเรียน ต้องออกแบบการเรียนรู้ให้ผู้เรียนในสภาพที่ใกล้เคียงชีวิตจริงที่สุด ในขณะเรียนรู้เกิดการสั่งสมประสบการณ์ใหม่ เอามาโต้แย้งความเชื่อหรือค่านิยมเดิม ทําให้ละจากความเชื่อเดิมหันมายึดถือ ความเชื่อ หรือค่านิยมใหม่ที่เรียกว่ากระบวนทัศน์ใหม่ (https://webs.rmutl.ac.th/) ครูใช้คำถามกระตุ้นหาคำตอบอย่างท้าทาย เน้นการฝึกปฏิบัติจริง เด็กจะสนุกเกิดการเรียนรู้ สิ่งที่ได้จากคําถามอยากรู้ของนักเรียนจะทําให้ครูเห็นความแตกต่างของพื้นฐานความรู้และพื้นฐานประสบการณ์เดิมของนักเรียนได้เป็นรายบุคคล และตอบสนองความต้องการของผู้เรียนโดยแท้จริง นอกจากนี้ครูต้องค้นคว้าศึกษาพัฒนาตนเองแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ สร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ครูไทยวิถีใหม่ต้องปรับพฤติกรรมให้ฉลาดรู้เท่าทันสื่อเทคโนโลยีดิจิตอล เพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้และเป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม เป็นต้นแบบของเด็กเพื่ออนาคตที่ดีต่อไป
จะเห็นได้ว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและระบบสารสนเทศ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์ในทุกมิติ เด็กในชนบทจะไม่ด้อยโอกาส ทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ได้ตลอดเวลา มีอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน บ้านจะกลายเป็นที่ทำงาน(Work from Home) การออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนจึงเป็นหน้าที่หลักโดยตรงสำหรับครู เพื่อให้ทันกับยุคการเปลี่ยนแปลง
*ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านหนองคูโคกเพ็ก สพป.ร้อยเอ็ด เขต ๒