การพัฒนาชุดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ตามแนวสะเต็มศึกษา วิชาวิทยาศาสตร์
การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงทดลองแบบ One Group Pretest-Posttest Design กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ จำนวน 6 คน โดยวิธีเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ ชุดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ตามแนวสะเต็มศึกษา (STEM Education) เรื่อง พลังงานความร้อน จำนวน 6 ชุด แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ดำเนินการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 ใช้เวลาจัดการเรียนรู้ จำนวน 18 ชั่วโมง วิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้โดยวิธี The Wilcoxon Matched Pairs Signed - Ranks Test
มีผลการศึกษาดังนี้
1) ชุดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ตามแนวสะเต็มศึกษา (STEM Education) เรื่อง พลังงานความร้อน มีจำนวนทั้งสิ้น 6 ชุด ได้แก่ 1. ค้นหาความหมายพลังงาน 2. อุณหภูมิและการวัด 3. ผลของความร้อนต่อการเปลี่ยนแปลงของสาร 4. สมดุลความร้อน 5. การนำความร้อน การพาความร้อน และการแผ่รังสีความร้อน 6. สร้างสรรค์ผลงาน บูรณาการสหวิชา มีประสิทธิภาพ 82.67/79.08
2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและการคิดอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 หลังการจัดการเรียนรู้โดยใช้วิทยาศาสตร์ตามแนวสะเต็มศึกษา (STEM Education) เรื่อง พลังงานความร้อนสูงกว่าก่อนการจัดการเรียนรู้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05