การพัฒนาการอ่านเพื่อความเข้าใจในรายวิชาภาษาอังกฤษ
ด้วยการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning) โดยใช้เทคนิค Jigsaw
ผู้วิจัย: นางสาวเนาวรัตน์ เยาวนาถ ตำแหน่งครูโรงเรียนบ้านคลองลึกพัฒนา
การศึกษา: ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (บริหารการศึกษา)
E-mail: new_nkp1@hotmail.com โทรศัพท์: 098-120-7365
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจในรายวิชาภาษาอังกฤษของผู้เรียนก่อนและหลังการเรียน ด้วยการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning) โดยใช้เทคนิค Jigsaw และ (2) เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจในรายวิชาภาษาอังกฤษของผู้เรียน ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning) โดยใช้เทคนิค Jigsaw กับคะแนนเกณฑ์ร้อยละ 60 ของคะแนนเต็ม มีสมมติการวิจัย ได้แก่ (1) ผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning) โดยใช้เทคนิค Jigsaw จะมีความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจในรายวิชาภาษาอังกฤษหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน และ (2) ผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning) โดยใช้เทคนิค Jigsaw จะมีความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจในรายวิชาภาษาอังกฤษสูงกว่าคะแนนเกณฑ์ร้อยละ 60 ของคะแนนเต็ม
กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านคลองลึกพัฒนา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 17 คน ซึ่งได้มาด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่าง โดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ตามการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ โดยใช้เทคนิค Jigsaw จำนวน 12 แผน มีค่าความเหมาะสมของแผนการจัดการเรียนรู้อยู่ในระดับดี และแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์การอ่านเพื่อความเข้าใจในรายวิชาภาษาอังกฤษ จำนวน 10 ข้อ เป็นแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก มีค่าความยากรายข้อ (p) อยู่ระหว่าง .04-.08 ค่าอำนาจจำแนกรายข้อตั้งแต่ .20 ขึ้นไปและมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .79 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ แล้วนําผลที่ได้มาแปลผลเปรียบเทียบกับเกณฑ์ร้อยละ 60 ที่ตั้งไว้ และการทดสอบ t-test แบบ dependent
ผลการวิจัยปรากฏว่า (1) ผู้เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีคะแนนเฉลี่ยการอ่านเพื่อความเข้าใจในรายวิชาภาษาอังกฤษด้วยการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning) โดยใช้เทคนิค Jigsaw หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 และ (2) ผู้เรียนที่มีคะแนนหลังเรียนสูงกว่าคะแนนเกณฑ์ร้อยละ 60 ของคะแนนเต็ม จำนวน 9 คน คิดเป็น ร้อยละ 53 ส่วนผู้เรียนที่มีคะแนนหลังเรียนต่ำกว่าคะแนนเกณฑ์ร้อยละ 60 ของคะแนนเต็ม จำนวน 8 คน คิดเป็น ร้อยละ 47 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบคะแนนก่อนและหลังเรียน พบว่า ผู้เรียนมีพัฒนาการด้านการอ่านเพื่อความเข้าใจในรายวิชาภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้น เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ทุกข้อ