รายงานการประเมินโครงการการบริหารโรงเรียนแบบมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนา
การศึกษา โรงเรียนบ้านหนองเกตุ ปีงบประมาณ 2563
ผู้รายงาน นางสาววิลาวัลย์ คำสว่าง
ปีที่ดำเนินการ ปีงบประมาณ 2563
บบทคัดย่อ
รายงานการประเมินโครงการการบริหารโรงเรียนแบบมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา โรงเรียนบ้านหนองเกตุ กำหนดวัตถุประสงค์ 1) เพื่อประเมินโครงการการบริหารโรงเรียนแบบมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา ใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปโมเดล (CIPP Model) ประกอบด้วยการประเมินด้านสภาพแวดล้อม ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการและด้านผลผลิต ที่ได้จากการดำเนินการโครงการ ตามความคิดเห็นของครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนบ้านหนองเกตุ 2) เพื่อประเมินผลลัพธ์ของโครงการการบริหารโรงเรียนแบบมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามความคิดเห็นของนักเรียนและผู้ปกครอง 3) เพื่อศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการมีส่วนร่วมพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนบ้านหนองเกตุ โดยกำหนดกลุ่มผู้ให้ข้อมูลในการประเมินจำนวนทั้งสิ้น 87 คน ประกอบด้วยครู จำนวน 4 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนบ้านหนองเกตุ จำนวน 7 คน (ไม่รวมผู้อำนวยการโรงเรียนและครูในxxxส่วนตัวแทนครู) นักเรียนจำนวน 35 คน ผู้ปกครองนักเรียนและผู้นำชุมชน จำนวน 47 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ จำนวน 6 ฉบับ เป็นเครื่องมือ 2 ลักษณะ คือแบบประเมินที่มีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ (Rating Scale) จำนวน 4 ฉบับ ทุกฉบับมีการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือทุกฉบับ ได้ค่าความเชื่อมั่นระหว่าง .87-.93 และแบบบันทึกข้อมูลตามสภาพจริงเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ทางเรียนระดับสถานศึกษาและแบบบันทึกผลการประเมินสมรรถนะสำคัญของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมิน
การประเมินโครงการการบริหารโรงเรียนแบบมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา โรงเรียนบ้านหนองเกตุ ปีงบประมาณ 2563 พบความสำเร็จในกิจกรรมทุกกิจกรรมและความสำเร็จในภาพรวมของโครงการ ซึ่งมีผลการประเมินได้ข้อสรุปดังนี้
1. ผลการประเมินโครงการการบริหารโรงเรียนแบบมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยใช้ซิปโมเดล (CIPP Model) พบผลการประเมิน ดังนี้
ด้านบริบท (context) โดยภาพรวมเกี่ยวกับความต้องการจำเป็นของโครงการและความเป็นไปได้อยู่ในระดับมาก ทุกภาคส่วนเห็นว่ากิจกรรมในโครงการจะวามารถตอบสนองความต้องการด้านคุณภาพนักเรียนของโรงเรียนบ้านหนองเกตุ และมีความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการให้ประสบความสำเร็จ โดยการสื่อสารทำความเข้าใจถึงการบริหารแบบมีส่วนร่วมที่มีแนวคิดพื้นฐานมาจากความเชื่อเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความต้องการพื้นฐาน ความคิดเกี่ยวกับความเป็นองค์กรสำคัญของโรงเรียน ใช้รูปแบบของการตัดสินใจ การสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสม ตลอดจนทักษะเฉพาะในการบริหารตามทฤษฎีการบริหาร
ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) โดยภาพรวมของการดำเนินการในโครงการการบริหารโรงเรียนแบบมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาโรงเรียนบ้านหนองเกตุ มีความเหมาะสม กิจกรรมการปฏิบัติมีความสมบูรณ์จากความมุ่งมั่นของผู้อำนวยการโรงเรียน ที่มีกลยุทธ์การบริหารในยุคปัจจุบัน ที่มุ่งเน้น การบริหารงานแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเกิดขึ้นโดยการที่ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง ชุมชน สังคม องค์กรเอกชน องค์กรภาครัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้ามามีส่วนร่วมคิดร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมภาคภูมิใจ ทั้งนี้มีส่วนที่ควรคำนึงถึงคือการวางแผนการจัดหางบประมาณมารองรับกิจกรรมเพิ่มเติมตามแนวคิดใหม่จากการร่วมคิดร่วมทำ ซึ่งอาจจัดหางบประมาณโดยรับการสนับสนุนจากองค์กรภายนอก
ด้านกระบวนการ (Process) ผลการประเมินกระบวนการมีส่วนร่วมในโครงการ การรับรู้สู่การปฏิบัติโดยรวมอยู่ในระดับมาก และผลการประเมินพบกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาตามแนวทางการดำเนินการ ประกอบด้วย 1) สำรวจความต้องการ การสำรวจข้อมูลพื้นฐาน 2) การกำหนดมาตรฐานของสถานศึกษา 3) การวางแผนพัฒนาสถานศึกษาตามวิสัยทัศน์ พันธกิจ 4) กิจกรรมการปฏิบัติ ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ 5) การประเมินผลการปฏิบัติงาน 6) การสรุปผลการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนากระบวนการทำงานร่วมกัน ซึ่งผลการประเมินอยู่ในระดับปานกลางถึงระดับมาก ส่วนปัญหาที่พบคือด้านการสื่อสาร ควรเป็นการสื่อสารสองทาง ให้บุคลากรภายในและบุคคลภายนอกตลอดจนองค์กรสนับสนุนทุกภาคส่วน มีช่องทางเสนอแนวทางความคิดการพัฒนาได้อย่างเต็มที่
ด้านผลผลิต (Output) ของโครงการ พบว่า โรงเรียนบ้านหนองเกตุ มีข้อมูลพื้นฐานเพื่อการบริหารจัดการศึกษาให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ พันธกิจที่กำหนด ตลอดจนสามารถปฏิบัติกิจกรรมตามแผนสู่ความสำเร็จได้ครบถ้วน มีการประเมินผลอย่างหลากหลาย ที่สำคัญส่งผลให้ผลผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับโรงเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ที่ได้ระดับ 3 ขึ้นไปในสาระวิชาหลัก และผลการประเมินสมรรถนะสำคัญตามหลักสูตรของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 มีการพัฒนาขึ้นจากปีการศึกษา ที่ผ่านมา
2. ผลลัพธ์จากการดำเนินการโครงการการบริหารโรงเรียนแบบมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา มีดังนี้
2.1 ผลที่เกิดขึ้นกับโรงเรียน พบว่า ครู ผู้ปกครองนักเรียน บุคคลและองค์กรในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ช่วยขับเคลื่อนให้การบริหารจัดการศึกษาดำเนินไปตามวิสัยทัศน์ พันธกิจของโรงเรียนและความต้องการของผู้ปกครองและชุมชน ช่วยให้สถานศึกษาได้รับการยอมรับจากชุมชน ชุมชนรักและหวงแหนสถานศึกษา ซึ่งส่งผลให้ผู้ปกครองและชุมชนสนับสนุนทรัพยากรเพื่อพัฒนาการศึกษา และให้ความร่วมมือกับสถานศึกษาในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยความเต็มใจ
2.2 ผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียน นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับสถานศึกษา และผลการประเมินสมรรถนะสำคัญตามหลักสูตรของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 มีค่าเฉลี่ยสูงขึ้น ได้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพท่ามกลางบรรยากาศที่ร่มรื่นสวยงาม
2.3 ผลที่เกิดขึ้นกับครู สามารถสร้างความรู้สึกที่ดีในการปฏิบัติงาน และการเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานทุกระดับได้ใช้ความรู้ ความสามารถของตนเองให้เกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานได้อย่าง เต็มความสามารถและมีประสิทธิภาพ
2.4 ผลที่เกิดขึ้นกับชุมชนและผู้ปกครอง พบว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในการจัดการศึกษานับเป็นกระบวนการที่สำคัญที่จะช่วยพัฒนาการศึกษาให้ตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นโดยเฉพาะโรงเรียนบ้านหนองเกตุ บุคคลในชุมชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนทรัพยากรทางการศึกษา รวมถึงการเชิญผู้ปกครองที่มีความรู้และมีเวลาว่างมาเป็นครูพ่อ ครูแม่ ให้ความรู้ทางวิชาการด้านภูมิปัญญากับบุตรหลาน เกิดผลดีทั้งต่อโรงเรียนที่ได้บุคลากรเพิ่ม ส่วนผู้ปกครองย่อมภาคภูมิใจที่ได้สอนบุตรหลานในโรงเรียน รวมถึงนักเรียนจะมีความเคารพและนับถือในตัวผู้ปกครองเพิ่มมากขึ้นซึ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุนชม
3. ผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศจากโครงการการบริหารโรงเรียนแบบมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา ได้องค์ความรู้สู่การปฏิบัติ เป็นแนวทางสร้างความสำเร็จให้โรงเรียนบ้านหนองเกตุ 10 ประการ ประกอบด้วย 1) การสร้างความศรัทธาและความเชื่อมั่นต่อชุมชน 2) การฝึกให้ตนเป็นคนใจกว้างและมีจิตสาธารณะ 3) ตระหนักในสิ่งที่จำเป็นและขาดแคลนไม่วางเฉย ทุกอย่างทำได้หากตั้งใจทำ 4) หมั่นสร้างและปรุงแต่งตนเองให้เป็นบุคคลที่มีเสน่ห์เป็นที่ชื่นชมศรัทธาของชุมชนและเพื่อร่วมงาน 5) อ่อนน้อมถ่อมตนวางตัวเรียบง่ายอยู่กับชุมชนและเพื่อนร่วมงานได้ทุกเวลา 6) หลีกเลี่ยงการโต้แย้งที่ไร้เหตุผล ยึดมั่นทักษะการประนีประนอม 7) ให้การต้อนรับชุมชนด้วยบรรยากาศมิตรภาพ 8) วิเคราะห์ชุมชนให้ลึกซึ้ง เพื่อสำรวจจุดเด่น จุดด้อย เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการพัฒนา 9) หมั่นแสวงหาแหล่งงบประมาณจากภายนอกมาสนับสนุนเพิ่มเติม โดยใช้โครงการที่มีประสิทธิภาพ 10) สร้างและพัฒนาค่านิยมการสร้างสัมพันธภาพกับชุมชน อย่างสม่ำเสมอ
ข้อเสนอแนะในการพัฒนา
1. ปัญหาสำคัญของการดำเนินการโครงการในครั้งนี้คือเรื่องของงบประมาณ และจุดเด่นที่พบ จากผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศคือการเกิดเครือข่ายชุมชนและข้อคิดการปฏิบัติต่อชุมชน ดังนั้นผู้บริหารโรงเรียนควรใช้เครือข่ายชุมชนและแนวทางการปฏิบัติดังกล่าว กำหนดแนวทางร่วมกันจัดหางบประมาณมาส่งเสริม พัฒนากิจกรรมโครงการให้สามารถดำเนินต่อยอดให้ได้มีประสิทธิภาพขึ้นอีก
2. การนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาบูณาการในการจัดการเรียนการสอนของครู ทำให้มีแหล่งค้นคว้าที่หลากหลาย ทำให้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนมีความสอดคล้องกับบริบท ดังนั้นจึงควรมีการพัฒนาหลักสูตรของโรงเรียนขึ้นมาใหม่ เพื่อบูรณาการแบบองค์รวมที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทการเรียนรู้ของนักเรียนโดยตรง กอปรกับการที่ดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมจะทำให้โลกการเรียนรู้ของนักเรียนกว้างขึ้น อีกทั้งยังสามารถขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมาให้ความรู้เฉพาะด้านได้ อันจะทำให้เกิด การใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่ในท้องถิ่นอย่างเต็มศักยภาพ