"ต้นกล้า ล้านตอง เพาะพันธุ์ พอเพียง" การจัดการเรียนรู้
1.1 ความเป็นมาและสภาพปัญหา
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่3) พ.ศ.2553 ได้กำหนดความมุ่งหมายและหลักการจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข (มาตรา 6) และแนวทางการจัดการศึกษายังได้ให้ความสำคัญแก่ผู้เรียนทุกคน โดยยึดหลักว่า ทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ถือว่า ผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด ต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาตาม ธรรมชาติและเต็มศักยภาพ (มาตรา 22) ในการจัดการศึกษา ต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษา ซึ่งเรื่องหนึ่งที่กำหนดให้ดำเนินการ คือ เรื่องความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข (มาตรา 23 ข้อ 5) ทั้งนี้เพื่อจัดกระบวนการเรียนให้คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลให้ผู้เรียนรู้จักประยุกต์ความรู้มาใช้ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาให้รู้จักคิดเป็น ทำเป็น รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชาอีกทั้งมีการประสานความร่วมมือกับ บิดา มารดา ผู้ปกครองและบุคคลในชุมชน ทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ (กรมสุขภาพจิต. 2554 :14) ครู ผู้บริหารสถานศึกษา มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและมีหน้าที่โดยตรงในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน คุณภาพการศึกษาจะเกิดขึ้นได้อย่างมีคุณภาพนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการพัฒนาทุกปัจจัยที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ครู ผู้บริหาร สถานศึกษาการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาของประเทศไทยได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สถานศึกษาจำเป็นต้องมีการพัฒนาเพื่อพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง ให้สามารถดำรงอยู่และสืบทอดจุดหมายของสถานศึกษาต่อไปเพื่อก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 อย่างมั่นคง
แนวทางการปฏิรูปการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม นโยบายหนึ่งของรัฐบาล คือ การลดเวลาเรียนภาควิชาการลงแต่ต้องไม่กระทบเนื้อหาหลักที่เด็กๆ ควรเรียนรู้ซึ่งหมายความว่า ครูต้องใช้ความสามารถในการออกแบบการเรียนรู้ให้นักเรียนได้สาระที่ต้องรู้ครบถ้วนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โรงเรียนจะต้องจัด กิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ให้นักเรียนปฏิบัติและควรมีกิจกรรมที่มีความหลากหลายที่ช่วยเพิ่มพูนทักษะการคิด วิเคราะห์ คุณธรรม ความมีน้ำใจต่อกัน การทำงานเป็นทีม และที่สำคัญควรกระตุ้นให้เด็กค้นหาศักยภาพและความชอบของตนเองพร้อมทั้งสอดแทรกคุณธรรมในแต่ละกิจกรรม การจัดกิจกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นในเฉพาะห้องเดียวกันหรือระดับชั้นเดียวกันบางกิจกรรม สามารถศึกษาหรือทำร่วมกันหลายระดับชั้นได้ เพื่อให้เด็กๆ รู้จักปรับตัว การช่วยเหลือดูแลกัน การมีปฏิสัมพันธ์กับคนหลายช่วงวัย โดยเป็นการจำลองสภาพจริงในสังคมให้เด็กได้เรียนรู้ ซึ่งจะยิ่งช่วยเพิ่มทักษะในการแก้ปัญหาให้กับ เด็กไทยต่อไป การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เป็นกรอบวิสัยทัศน์ ด้านการศึกษาเพื่อเตรียมนักเรียนให้พร้อมเข้าสู่การ เรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของไทยนั้น สอดคล้องกับของหลายประเทศที่เป็นผู้นำด้านการศึกษาของโลก ที่เห็นพ้องกันกับแนวคิดสำคัญในศตวรรษที่ 21 เรื่องของจิตสำนึกต่อโลก ความรู้พื้นฐานการประกอบอาชีพ ความรู้พื้นฐาน ด้านพลเมือง สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม และทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 อันได้แก่ ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี ทักษะการทำงาน ทักษะชีวิตที่ใช้ได้จริง สอดแทรกคุณธรรม (กับครอบครัว โรงเรียน ชุมชน รัฐ และประเทศชาติ)
๑.๒ แนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนา
ดังนั้นทางโรงเรียนจึงได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ตามบริบทและศักยภาพของชุมชน โดยมีการเน้นการพัฒนาคุณภาพทางวิชาการควบคู่กับการพัฒนาทักษะอาชีพ ทักษะชีวิตและมีคุณธรรม ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย ครูต้องปรับการเรียนการสอนตามแนวการจัดทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่เน้นสมรรถนะทางสาขาวิชาชีพใช้พื้นที่เป็นฐานในการจัดกระบวนการเรียนรู้โดยการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนผู้บริหารโรงเรียนต้องเป็นผู้นำทางวิชาการ การปฏิรูปการศึกษาต้องเน้นที่การสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นการจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนลงมือปฏิบัติจริง สร้างชิ้นงานเป็นของตนเองได้จริง (Active Learning) มีการประเมินผลที่สมดุลเชิงคุณภาพสามารถประเมินบุคลิกภาพด้านอาชีพสู่ฐานสมรรถนะด้านการเรียนรู้ได้ตามศักยภาพและความต้องการของผู้เรียนเป็นรายบุคคล โดยผ่านการเห็นชอบของทุกฝ่าย โรงเรียนและผู้ปกครอง นักเรียน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกชุมชน หากนักเรียนกลุ่มใดสนใจที่จะเรียนรู้ทางวิชาการ มุ่งเตรียมตัวสู่ระดับอุดมศึกษา เป็นอาชีพหลัก นักเรียนที่ต้องการพัฒนาทักษะทางด้านอาชีพ และทักษะชีวิตไปพร้อมๆกันนั้นนักเรียนสามารถเรียนรู้ในงานอาชีพที่ตนเองถนัดและสนใจ โดยจัดให้มีการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบที่ให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยใช้รูปแบบ "ต้นกล้า ล้านตอง เพาะพันธุ์ พอเพียง" นับว่าเป็นการจัดการศึกษาเพื่อตอบโจทย์ในชีวิตจริงของนักเรียนในอนาคต ที่จำเป็นต้องฝึกทักษะที่หลากหลายผสานกับทักษะวิชาการ ทักษะชีวิต และทักษะอาชีพรวมทั้งคุณธรรมที่เด็กนักเรียนได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง โดยบูรณาการเข้าเป็นเนื้อเดียวกับการจัดการเรียนรู้ของครู ในกิจกรรมลดเวลาเรียนและอิงวิถีของคนในชุมชนเป็นการนำความรู้ไปใช้ได้จริงในการดำรงชีวิต
การนำแนวคิดแนวทางในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยใช้รูปแบบ "ต้นกล้า ล้านตอง เพาะพันธุ์ พอเพียง" สำหรับนักเรียนโรงเรียนวัดล้านตอง ปีการศึกษา 2563 เป็นหัวข้อหลักที่ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน เน้นให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเองมากขึ้น นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างดียิ่ง โรงเรียนมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะอยู่อย่างพอเพียง บูรณาการสู่กลุ่มสาระการเรียนรู้ ๘ กลุ่มสาระในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการทำงานให้สอดคล้องกับผลทั้ง ๔ มิติ สามห่วงและสองเงื่อนไข ให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้และทำงานโดยเน้นการมีส่วนร่วม การสร้างความรู้ รัก สามัคคีในหมู่คณะ และการ มีส่วนร่วมในการประสานงานกับชุมชนและองค์กรต่าง ๆ ในการสร้างเครือข่ายการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและสร้างสังคมพอเพียงเกิดสุขภาวะที่ดีงามร่วมกัน โจทย์สำคัญของการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนเนื่องจากทิศทางที่ผ่านมาเรามุ่งพัฒนาโรงเรียนให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการ มุ่งสร้างเด็กเก่งที่มีความสามารถในการแข่งขันและมุ่งสู่ระบบการศึกษา ที่เอาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นตัววัดคุณภาพโรงเรียนและคุณภาพครู จนมองข้ามเจตจำนงทางการศึกษาที่เราต้องการ “พลเมืองที่มีความสุขทั้งมิติของกาย ใจ สังคมและจิตวิญญาณ มีวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงและสัมพันธ์กันในตัวมนุษย์และสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทั้งกายภาพและสังคม และมีความสามารถเชิงการแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างมีศักดิ์ศรี”ซึ่งคำตอบนี้มีครบในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาสู่กระบวนการจัดการเรียนรู้และปลูกฝังเยาวชน นักเรียนตั้งแต่วัยเยาว์ให้เขาได้เติบโตอย่างเข้มแข็งและสง่างามมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี สร้างสังคมโลกที่เป็นสุข ซึ่งจะเป็นการศึกษาที่สามารถรับมือความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ ได้อย่างสง่างาม นอกจากนี้ยังสร้างให้บุคคลดังกล่าวเป็นคนดี ดำรงตนในทางสายกลาง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ โดยใช้โรงเรียนเป็น เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา มีความศรัทธาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นแนวความคิดและหลักในการปฏิบัติเพื่อพัฒนานักเรียน เยาวชน ครอบครัว สังคม และชาติไทย ให้เกิดอุปนิสัย “พอเพียง” ได้เป็นการปลูกฝังวิถีชีวิตความพอเพียง สร้างความสัมพันธ์ระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน ชุมชน องค์กรต่าง ๆ ให้เป็นขบวนการที่เข้มแข็งที่จะทำให้เกิดการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา รวมทั้งเป็นกรอบแนวทางสร้างโรงเรียน นักเรียน ชุมชน วัด องค์กร และโรงเรียนเครือข่ายต่าง ๆ ให้มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันทั้งที่บ้านและโรงเรียน กลายเป็นเครือข่ายชุมชนพอเพียงที่เชื่อมโยงกันด้วยหลักไม่เบียดเบียน แบ่งปัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โรงเรียนนักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักและประพฤติตนเป็นแบบอย่างการมีวิถีชีวิตแบบพอเพียง