รายงานผลการประเมินโครงการปลูกจิตสำนึกสร้างความเป็นไทย อ่านต่อไ
ชื่อเรื่อง: รายงานผลการประเมินโครงการปลูกจิตสำนึกสร้างความเป็นไทย โรงเรียนบ้านป่าบง (หล้าราษฎร์วิทยา) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3
ชื่อผู้ประเมิน : นายเกียรติยศ ยะมา
ปีที่ศึกษา : 2563
รายงานผลการประเมินโครงการโครงการปลูกจิตสำนึกสร้างความเป็นไทย โรงเรียนบ้านป่าบง (หล้าราษฎร์วิทยา) โดยประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินตาม CIPPIEST Model เสนอโดย แดเนียล แอล สตัฟเฟลบีม (Daniel L. Stufflebeam) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินบริบท ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และส่วนขยายการประเมินผลผลิต ด้านผลกระทบ ประสิทธิผล ความยั่งยืน และด้านการถ่ายทอดส่งต่อ ประชากรที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ประกอบด้วย ผู้บริหาร ครู นักเรียนผู้นำชุมชน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนบ้านป่าบง (หล้าราษฎร์วิทยา) จำนวนทั้งสิ้น 71 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมิน พบว่า
1. ผลการประเมินด้านบริบท พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยวัตถุประสงค์ของโครงการมีความสอดคล้องกับเป้าหมายของโครงการ รองลงมา คือ การวางแผน การกำหนดขั้นตอน วิธีการดำเนินงานกิจกรรม เป้าหมายและกิจกรรมของโครงการมีความชัดเจนและเหมาะสม และการประเมินผลของโครงการและตัวชี้วัดของความสำเร็จมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยการกำหนดเป้าหมายของโครงการมีความเหมาะสม มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา คือ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมุ่งมั่นในความสำเร็จของโครงการ
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยขั้นวางแผน/เตรียมการ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด โดยประชุมคณะกรรมการดำเนินงานโครงการ เพื่อวางแผนในการปฏิบัติการ และจัดทำแผนการดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ ของโครงการขั้นการดำเนินการ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด โดยการดำเนินงานกิจกรรมวันเด็ก สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมาย มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด ขั้นประเมินผล มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก โดยคณะกรรมการดำเนินงานโครงการสังเกตการณ์เข้าร่วมกิจกรรมและพฤติกรรมนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ขั้นปรับปรุงแก้ไข มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก โดยนำผลการตรวจสอบ ติดตามและประเมินผล มาวิเคราะห์เพื่อหาวิธีปรับปรุงต่อการจัดกิจกรรมต่างๆให้มีความเหมาะสมและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนกับนักเรียน ครู และผู้ปกครองอย่างต่อเนื่อง
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยโรงเรียนได้จัดกระบวนการและสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้นักเรียนมีโอกาสได้พัฒนาตนเองอย่างเต็มตามศักยภาพ รองลงมา คือ โรงเรียนให้การส่งเสริมและสนับสนุนนักเรียนให้ได้รับพัฒนาตนเองในด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์
4.1 ผลการประเมินด้านผลกระทบ พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยนักเรียนมีคุณลักษณะและสมรรถนะที่ดีขึ้น รองลงมา คือ โรงเรียนมีสภาพแวดล้อมที่เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักเรียนด้านการปลูกจิตสำนึกสร้างความเป็นไทย
4.2 ผลการประเมินประสิทธิผล พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยนักเรียนสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในโครงการไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน รองลงมา คือ นักเรียนรักการทำงานมีความเข้าใจในกระบวนการทำงานและมีแบบแผนในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
4.2.1 ผลการประเมินความพึงพอใจต่อโครงการปลูกจิตสำนึกสร้างความเป็นไทย ตามความคิดเห็น ผู้บริหารสถานศึกษา ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้นำชุมชน พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด พบว่า ด้านบริบท มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด โดยโรงเรียนมีนโยบายโดยกำหนดหลักการและวัตถุประสงค์ของโครงการมีความสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการตามมาตรฐานการศึกษา ด้านปัจจัยนำเข้า มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด โดยโรงเรียนมีระบบการตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลสู่การพัฒนา/ปรับปรุง ด้านการบริหารจัดการงบประมาณในสถานศึกษา ด้านกระบวนการ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด โดยโรงเรียนสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมปลูกจิตสำนึกสร้างความเป็นไทยให้นักเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์และสมรรถนะที่ดี และด้านผลผลิต มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด โดยนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
4.2.2 ผลการประเมินความพึงพอใจต่อโครงการปลูกจิตสำนึกสร้างความเป็นไทย ตามความคิดเห็นของนักเรียน พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยนักเรียนพึงพอใจโดยรวมในการดำเนินโครงการปลูกจิตสำนึกสร้างความเป็นไทย รองลงมา คือ นักเรียนเข้าร่วมโครงการด้วยความสมัครใจ
4.3 ผลการประเมินความยั่งยืนโครงการ พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยการดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ ในโครงการมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน และชุมชน รองลงมา คือ การดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ ในโครงการมีรูปแบบที่เหมาะสมกับนักเรียนโครงการสามารถตอบสนองต่อความต้องการในด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์และสมรรถนะที่สำคัญของนักเรียนกับผู้ปกครองและชุมชนได้
4.4 ผลการประเมินการถ่ายทอดส่งต่อ พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยการดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ ในโครงการได้รับความร่วมมือจากนักเรียน คณะครู ผู้ปกครองนักเรียน ชุมชน และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เป็นอย่างดี รองลงมา คือ โรงเรียนสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นต้นแบบในการดำเนินงานโครงการปลูกจิตสำนึกสร้างความเป็นไทย ให้กับนักเรียน ผู้ปกครองนักเรียน ชุมชน หรือผู้ที่สนใจได้
กล่าวโดยสรุปได้ว่า จากการประเมินโครงการปลูกจิตสำนึกสร้างความเป็นไทย โรงเรียนบ้านป่าบง (หล้าราษฎร์วิทยา) อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 ด้วยรูปแบบการประเมิน CIPPIEST Model ในครั้งนี้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ตั้งไว้ทุกประการ ผู้บริหารสถานศึกษาได้ข้อมูลสารสนเทศมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการดำเนินโครงการหรือพัฒนาโครงการอื่นๆ ในอนาคต ครูสามารถนำผล การประเมินไปใช้ในการพัฒนารูปแบบการดำเนินโครงการ ที่สอดคล้องกับการจัดกระบวนการเรียนการสอนและหลักสูตรแกนกลางที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ นอกจากนั้นแล้วยังส่งผลให้นักเรียนมีจิตสำนึกสร้างความเป็นไทย มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตร ตามสมรรถนะของผู้เรียน ดังนั้นจึงถือได้ว่าการดำเนินโครงการปลูกจิตสำนึกสร้างความเป็นไทย โรงเรียนบ้านป่าบง (หล้าราษฎร์วิทยา) อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 สำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้