การพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้กระบวนการแบบกลุ่มร่วมมือ
STAD เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สำหรับนักเรียน
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
ผู้วิจัย นางสาววนิดา ผุโพธิ์
โรงเรียนเทศบาลศรีเมืองพลประชานุเคราะห์ เทศบาลเมืองเมืองพล
ปีที่วิจัย 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาหาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือเทคนิค STAD เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ 2) เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือเทคนิค STAD เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 3) เพื่อทดลองใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือเทคนิค STAD เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ 4) เพื่อประเมินและปรับปรุงชุดกิจกรรมการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือเทคนิค STAD เพื่อส่งเสริม
ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ในประเด็นต่อไปนี้ 4.1) เพื่อเปรียบเทียบผลการเรียนรู้ เรื่อง การบวกและการลบจำนวนที่มีผลลัพธ์และตัวตั้งไม่เกิน 100,000 สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้ชุดกิจกรรมก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้ 4.2) เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการ คิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้ชุดกิจกรรมก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้ 4.3) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดกิจกรรมแบบกลุ่มร่วมมือเทคนิค STAD เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดวิเคราะห์ กลุ่มตัวอย่าง ที่ใช้ในการวิจัยคือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/3 โรงเรียนเทศบาลศรีเมืองพลประชานุเคราะห์ เทศบาลเมืองเมืองพล ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 จังหวัดขอนแก่น จำนวน 40 คน ได้มาจากการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) โดยการจับสลาก โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยของการสุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง การบวกและการลบจำนวนที่มีผลลัพธ์และตัวตั้งไม่เกิน 100,000 2) แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 3) แบบทดสอบวัดผล
การเรียนรู้ เรื่อง การบวกและการลบจำนวนที่มีผลลัพธ์และตัวตั้งไม่เกิน 100,000 4) แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ 5) แบบสอบถามความคิดเห็นที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ด้วย
ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้ค่าเฉลี่ย ( ) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การทดสอบหาค่า ( t-test dependent) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis)
ผลการวิจัย พบว่า
1. ข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ได้จากนักเรียน ครู ผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ควรมีเนื้อหาให้ความรู้ ใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายชัดเจน มีภาพประกอบสีสันสวยงาม
2. ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมีทั้งหมด 6 ชุดกิจกรรม แต่ละชุดกิจกรรม จะประกอบด้วย 1) ชื่อชุดกิจกรรม 2) คำนำ 3) สารบัญ 4) คำชี้แจง 5) สาระสำคัญ/จุดประสงค์ 6) ใบความรู้/ใบกิจกรรม 7) แบบทดสอบก่อนเรียน 8) แบบทดสอบหลังเรียนและมีค่าประสิทธิภาพ 85.00/85.50 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 ที่กำหนดไว้
3. ผลการทดลองใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ พบว่า การเรียนการสอนดำเนินการได้ตามแผนการจัดการเรียนรู้ นักเรียนให้ความสนใจ และมีส่วนร่วมในการปฏิบัติกิจกรรมอย่างสนุกสนาน
4. ผลการใช้ชุดกิจกรรม พบว่า ผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีผลการเรียนรู้ เรื่อง การบวกและการลบจำนวนที่มีผลลัพธ์และตัวตั้งไม่เกิน 100,000 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ หลังการใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้สูงกว่าก่อนใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05