การพัฒนารูปแบบการปฏิรูปการเรียนรู้โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
ในศตวรรษที่ 21 โรงเรียนอนุบาลอำนาจเจริญ
ชื่อผู้วิจัย นายนริศ เชื้ออ่ำ
ปีที่ศึกษา 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ
1) วิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานและสภาพความต้องการในการพัฒนารูปแบบการปฏิรูปการเรียนรู้โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานบูรณาการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
2) สร้างรูปแบบการปฏิรูปการเรียนรู้โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานบูรณาการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โรงเรียนอนุบาลอำนาจเจริญ
3) ทดลองใช้รูปแบบการปฏิรูปการเรียนรู้โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานบูรณาการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โรงเรียนอนุบาลอำนาจเจริญ
4) ประเมินผลและปรับปรุงรูปแบบการปฏิรูปการเรียนรู้โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานบูรณาการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โรงเรียนอนุบาลอำนาจเจริญ
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยจำนวน 249 คน ประกอบด้วย ครูผู้สอน จำนวน 44 คน
คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 5 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 100 คน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 100 คน
ได้มาโดยการสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) แบบแผนและวิธีดำเนินการวิจัยเป็นการวิจัยและพัฒนาโดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม
(Participatory Action Research : PAR เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่
1. คู่มือการใช้รูปแบบการปฏิรูปการเรียนรู้โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานบูรณาการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
2. เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่
1) แบบวิเคราะห์เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
2) แบบสัมภาษณ์ด้านการสร้างและการพัฒนาหลักสูตร
3) แบบสัมภาษณ์ด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้
4) แบบสัมภาษณ์ด้านสื่อการเรียนการสอนและแหล่งเรียนรู้
5) แบบสัมภาษณ์ด้านการประเมินผลการเรียนรู้
6) แบบสัมภาษณ์ ด้านการพัฒนาบุคลากร
7) แบบสัมภาษณ์ด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้
8) แบบสัมภาษณ์ด้านการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
9) แบบสอบถามความคิดเห็นต่อการประชุมอบรม
10) แบบบันทึกการปฏิบัติงาน
11) แบบสังเกตพฤติกรรมการสอน
12) แบบประเมินทักษะครูในการปฏิรูปการเรียนรู้
13) แบบสังเกตพฤติกรรมนักเรียน
14) แบบประเมินความพึงพอใจต่อการปฏิรูปการเรียนรู้
ซึ่งมีค่า IOC มากกว่า 0.5 ขึ้นไป และมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับอยู่ระหว่าง 0.709 - 0.965
เก็บรวมรวมข้อมูลโดยใช้วิธีการแบบผสม (Mixed Method) ทั้งข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
โดยตรวจสอบคุณภาพข้อมูลแบบสามเส้า (Triangulation Technique) สถิติที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานและความต้องการของโรงเรียนอนุบาลอำนาจเจริญ มีความพร้อมที่จะพัฒนาสถานศึกษา
ครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้เท่าทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
ควรมีการนำแนวทางการปฏิรูปการเรียนรู้โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานบูรณาการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้
ของผู้เรียนสู่การปฏิบัติจริงในสถานศึกษาได้อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยเน้นไปที่การเรียนรู้จากประสบการณ์จริง
และจากการเรียนการสอนที่นักเรียนมีโอกาสเป็นผู้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง
2. รูปแบบการปฏิรูปการเรียนรู้โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานบูรณาการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โรงเรียนอนุบาลอำนาจเจริญ
ที่พัฒนาขึ้นมีชื่อว่า “รูปแบบ PAOR Cycle Model” ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ การวางแผน (Planning) การปฏิบัติ (Action)
การสังเกตและตรวจสอบ (Observe) และการสะท้อนผล (Reflection) ส่วนการประเมินความเหมาะสมของรูปแบบ “PAOR Cycle Model” มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
3. การทดลองใช้รูปแบบการปฏิรูปการเรียนรู้โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานบูรณาการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โรงเรียนอนุบาลอำนาจเจริญ
ได้ดำเนินการพัฒนารูปแบบ PAOR cycle Model 2 วงรอบ โดยการพัฒนาในวงจรรอบที่ 1 เมื่อดำเนินการครบทุกกิจกรรมแล้ว
พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความรู้ ความเข้าใจ แต่ยังมีปัญหาที่จะต้องพัฒนาเพิ่มเติม คือ 1) อบรมเชิงปฏิบัติการจัดการเรียน
การสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ 2) อบรมเชิงปฏิบัติการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน 3) อบรมเชิงปฏิบัติการวิจัยในชั้นเรียน
4) อบรมเชิงปฏิบัติการวัดผลประเมินผลที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ 5) ประชุมปฏิบัติการนิเทศสนับสนุนการเรียนการสอน
ซึ่งได้นำผลสะท้อนการปฏิบัติดังกล่าวไปสู่การพัฒนาในวงรอบที่ 2 เมื่อพัฒนาเสร็จแล้วพบว่า การดำเนินงานปฏิรูปการเรียนรู้ทุกด้านบรรลุตามเป้าหมายของกิจกรรม
ส่วนผลการดำเนินงานการปฏิรูปการเรียนรู้โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานบูรณาการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โรงเรียนอนุบาลอำนาจเจริญ ภาพรวมอยู่ในระดับมาก
โดยมีด้านการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนอีก 6 ด้านอยู่ในระดับมากเรียงลำดับดังนี้
ด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ ด้านการพัฒนาบุคลากร ด้านการสร้างและพัฒนาหลักสูตร ด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้ ด้านสื่อการเรียนการสอนและแหล่งเรียนรู้
และด้านการประเมินผลการเรียนรู้
4. การประเมินผลและปรับปรุงรูปแบบการปฏิรูปการเรียนรู้โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานบูรณาการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โรงเรียนอนุบาลอำนาจเจริญ ดังนี้
1) ประเมินทักษะครูในการปฏิรูปการเรียนรู้โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานบูรณาการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก
2) ประเมินพฤติกรรมนักเรียนตามทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก และ
3) ประเมินความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อรูปแบบการปฏิรูปการเรียนรู้โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานบูรณาการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โรงเรียนอนุบาลอำนาจเจริญ
ภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก