การประเมินโครงการส่งเสริมการจัดกระบวนการเรียนรู้
ผู้ประเมิน นางอมราพร บุญให้
ระยะเวลาในการประเมินโครงการ 10 ตุลาคม 2561 ถึง 15 ตุลาคม 2562
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการส่งเสริมการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตของนักเรียน มีวัตถุประสงค์ 4 ประการ 1) เพื่อประเมินสภาพแวดล้อมโครงการส่งเสริมการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตของนักเรียน 2) เพื่อประเมินปัจจัยเบื้องต้นโครงการส่งเสริมการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตของนักเรียน 3) เพื่อประเมินกระบวนการโครงการส่งเสริมการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตของนักเรียน และ4) เพื่อประเมินผลผลิต ในส่วนปรับขยาย ด้านผลกระทบ ด้านประสิทธิผล ด้านความยั่งยืน และด้านการถ่ายทอดส่งต่อ โครงการส่งเสริมการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตของนักเรียน กลุ่มเป้าหมายและกลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลัก ประกอบด้วย 1.1) กลุ่มเป้าหมาย คือ ครูระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 จำนวน 10 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 12 คน ของโรงเรียนเทศบาลวัดหนองแก (หลวงปู่คำอุถัมภ์) รวมทั้งสิ้น 22 คน ในการตอบแบบสอบถามด้านสภาพแวดล้อม ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิตในการปรับขยายเพิ่มส่วนเป็นด้านผลกระทบ ด้านประสิทธิผล ด้านความยั่งยืน และด้านการถ่ายทอดส่งต่อ นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - 6 ทั้งหมดจำนวน 101 คน และผู้ปกครองนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 ทั้งหมดจำนวน 220 คน รวมทั้งสิ้น 321 คน ในการตอบแบบสอบถามด้านผลผลิตในการปรับขยายเพิ่มส่วนเป็นด้านผลกระทบ ด้านประสิทธิผล ด้านความยั่งยืน และด้านการถ่ายทอดส่งต่อ 1.2) กลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลัก คือ ครูระดับชั้นประถมศึกษา จำนวน 10 คน ในการสนทนากลุ่มด้านสภาพแวดล้อม ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิตในการปรับขยายเพิ่มส่วนเป็นด้านผลกระทบ ด้านประสิทธิผล ด้านความยั่งยืน และด้านการถ่ายทอดส่งต่อ ระยะเวลาในการประเมินโครงการในช่วงระหว่าง วันที่ 10 ตุลาคม 2561 ถึง วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2562 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลมีจำนวน 2 ชุด คือ 1) แบบประเมินมีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ แบ่งเป็น 4 ฉบับ ฉบับที่ 1 แบบสอบถามข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบประเมินและแบบประเมินด้านสภาพแวดล้อมโครงการ จำนวน 6 ข้อ ฉบับที่ 2 แบบสอบถามข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบประเมินและแบบประเมินด้านปัจจัยเบื้องต้นโครงการ จำนวน 6 ข้อ ฉบับที่ 3 แบบสอบถามข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบประเมินและแบบประเมินด้านกระบวนการโครงการ จำนวน 6 ข้อ ฉบับที่ 4 แบบสอบถามข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบประเมินและแบบประเมินด้านผลผลิตโครงการ จำนวน 34 ข้อ 2) แบบประเด็นข้อคำถามในการสนทนากลุ่ม เป็นแบบข้อคำถามในการสนทนากลุ่มสำหรับครูระดับชั้นประถมศึกษา มีลักษณะเป็นข้อความปลายเปิดด้านสภาพแวดล้อม จำนวน 3 ข้อ ด้านปัจจัยเบื้องต้น จำนวน 4 ข้อ ด้านกระบวนการ จำนวน 1 ข้อ และด้านผลผลิต จำนวน 2 ข้อ ที่ ผู้ประเมินได้กำหนดคำถามตามกรอบการประเมินในแต่ละด้าน สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
จากผลการประเมิน สรุปข้อมูลออกเป็น 4 ด้านดังต่อไปนี้
1. ด้านสภาพแวดล้อมพบว่า ผลการประเมินในภาพรวม อยู่ในระดับมากที่สุดเกือบ ทุกด้าน ความชัดเจน สอดคล้องและเหมาะสมของหลักการ วัตถุประสงค์ และเป้าหมายของโครงการ โครงการมีความสอดรับกับวิสัยทัศน์และพันธกิจของโรงเรียน โครงการตรงตามความต้องการของครู นักเรียน ผู้ปกครองและผู้ที่เกี่ยวข้อง และความเหมาะสมของวิธีการดำเนินโครงการ อยู่ในระดับมากที่สุด โครงการมีความสอดรับกับนโยบายของชาติและท้องถิ่น อยู่ในระดับมาก แต่ประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดในด้านนี้ คือ ความเหมาะสมของระยะเวลาในการดำเนินโครงการ
2. ด้านปัจจัยเบื้องต้นพบว่า มีจำนวนบุคลากรดำเนินโครงการอย่างเหมาะสมและเพียงพอ โครงการมีความสอดรับกับวิสัยทัศน์และพันธกิจของโรงเรียน มีการจัดสรรงบประมาณดำเนินโครงการอย่างเหมาะสม คุ้มค่า และเพียงพอ โรงเรียนมีการเตรียมความพร้อมในการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้และพัฒนานักเรียนอย่างเป็นระบบ วัสดุ อุปกรณ์และสื่อการเรียนรู้มีความหลากหลาย เหมาะสม และเพียงพอ และการให้ความร่วมมือและสนับสนุนของผู้ปกครอง อยู่ในระดับมากที่สุด แต่ประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดในด้านนี้ คือ มีแหล่งเรียนรู้ อาคารสถานที่ และสิ่งแวดล้อมเอื้อต่อการเรียนรู้
3. ด้านกระบวนการพบว่า การดำเนินการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้มีความเหมาะสมและต่อเนื่อง การวางแผนและการประสานงานในแต่ละลำดับขั้นตอนของการดำเนินโครงการ การนิเทศกำกับติดตามความก้าวหน้าในการจัดการเรียนรู้ของครูมีความเหมาะสมและต่อเนื่อง การใช้งบประมาณและทรัพยากรในการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้อย่างเหมาะสม คุ้มค่า และเพียงพอ และการนำผลการนิเทศและประเมินความก้าวหน้ามาปรับปรุง แก้ไขเพื่อพัฒนาต่อไป อยู่ในระดับมากที่สุด แต่ประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดในด้านนี้ คือ การประเมินติดตามความก้าวหน้าในการพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ของนักเรียนมีความเหมาะสมและต่อเนื่อง
4. ด้านผลผลิต สรุปได้ดังนี้
4.1) ด้านผลกระทบ ประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดในด้านนี้ คือ ครูมีความรู้และนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง 2 เงื่อนไขมาใช้ประกอบการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตของนักเรียนได้อย่างเหมาะสม และประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดในด้านนี้ คือ นักเรียนได้รับความรู้ และมี ความเข้าใจในการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์และเหมาะสม
4.2) ด้านประสิทธิผล ประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดในด้านนี้ คือ นักเรียน ครู ผู้ปกครอง และผู้ที่เกี่ยวข้องภูมิใจในคุณภาพและคุณลักษณะของนักเรียนที่ดีขึ้น และประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดในด้านนี้ คือ นักเรียนมีทักษะในการสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจในทางที่ถูกต้องไม่เกิดการเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องที่สื่อสารอย่างมีเหตุผล
4.3) ด้านความยั่งยืน ประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดในด้านนี้ คือ โรงเรียนมีระบบบริหารจัดการในการส่งเสริม และสนับสนุนการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนานักเรียนอย่างต่อเนื่อง และครูมีการปรับปรุงและดำเนินการจัดกระบวนการเรียนรู้และกิจกรรมที่ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนานักเรียนได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง และประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดในด้านนี้ คือ นักเรียนมีการนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน พัฒนาตนเอง และปฏิบัติตนในสังคมอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ
4.4) ด้านการถ่ายทอดส่งต่อ ประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดในด้านนี้ คือ ครูสามารถนำกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทำเป็นผลงานในการขยายผลให้เพื่อนครูโรงเรียนอื่นนำไปประยุกต์ใช้ได้ และโรงเรียนสามารถนำขั้นตอนการส่งเสริมการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปขยายผลและเป็นแบบอย่างให้กับโรงเรียนอื่นได้ และประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดในด้านนี้ คือ นักเรียนสามารถปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี และนำหลักการคิดที่ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้กับคนใกล้ตัวจนสามารถคิดและปฏิบัติตามได้
กล่าวโดยสรุป โครงการนี้มีหลักการ วัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่เหมาะสม มีการดำเนินการที่สามารถปฏิบัติได้จริง ทำให้การจัดการเรียนรู้ของครูมีประสิทธิภาพมากขึ้น นักเรียนมีคุณภาพและคุณลักษณะที่ดีขึ้นกว่าเดิม และส่งผลให้นักเรียน ครู ผู้ปกครองนักเรียน และผู้ที่เกี่ยวข้อง เกิดความพึงพอใจต่อผลลัพธ์ที่เกิดจากโครงการ โครงการจึงสมควรดำเนินการต่อไป