การวิจัยและพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการศึกษา
ผู้วิจัย นางผกาพันธุ์ วีระสิงห์
โรงเรียน โรงเรียนเมืองพัทยา 7 (บ้านหนองพังแค) สังกัดเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี
ปีที่วิจัย 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการบริหารจัดการศึกษา เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมของครู โรงเรียนเมืองพัทยา 7 (บ้านหนองพังแค) 2) สร้างรูปแบบการบริหารจัดการศึกษา เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมของครู โรงเรียนเมืองพัทยา 7 (บ้านหนองพังแค) ตามแนวคิดการพัฒนาบทเรียนร่วมกันด้วยชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ 3) ทดลองใช้รูปแบบการบริหารจัดการศึกษาฯ และ 4) ประเมินรูปแบบการบริหารจัดการศึกษาฯ กลุ่มเป้าหมายในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 194 คน บุคลากรครู จำนวน 104 คน ผู้บริหารโรงเรียน) จำนวน 3 คน หัวหน้าวิชาการ 1 คน โรงเรียนเมืองพัทยา 7 (บ้านหนองพังแค) นักการศึกษา 2 คน ศึกษานิเทศก์ 1 คน ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม 1 คน ผู้บริหารโรงเรียนในสังกัดสำนักการศึกษาเมืองพัทยา จำนวน 10 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามปลายเปิดการบริหารจัดการศึกษา เพื่อเสริมสร้างการจัดการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมของครู แบบประเมินความเหมาะสมของร่างรูปแบบการบริหารจัดการศึกษาแบบประเมินประสิทธิผล แบบสอบถามความพึงพอใจ และแบบประเมินความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของรูปแบบการบริหารจัดการศึกษาฯ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการหาค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าเฉลี่ยร้อยละ ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยมีดังนี้
1. การศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการบริหารจัดการศึกษา เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมของครู โรงเรียนเมืองพัทยา 7 (บ้านหนองพังแค) พบว่า กิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมเป็นกิจกรรมที่ทุกคนต้องมีความรับผิดชอบ และควรส่งเสริมปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง มีความตระหนัก มีความรักความหวงแหน เห็นคุณค่ารวมทั้งมีจิตสำนึก ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถบูรณาการกิจกรรมดังกล่าวสอดแทรกในแต่ละรายวิชา โดยเริ่มจากกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เป็นต้น
2. รูปแบบการบริหารจัดการศึกษา เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมของครู โรงเรียนเมืองพัทยา 7 (บ้านหนองพังแค) ตามแนวคิดการพัฒนาบทเรียนร่วมกันด้วยชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ที่สร้างขึ้นชื่อว่า TDFM Model มี 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1) ร่วมคิด (Think : T) 2) ร่วมทำ (Do : D) 3) ร่วมตาม (Follow : F) และ 4) ร่วมแก้ (Modify : M)
3. การทดลองใช้รูปแบบการบริหารจัดการศึกษา เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมของครู โรงเรียนเมืองพัทยา 7 (บ้านหนองพังแค) ตามแนวคิดการพัฒนาบทเรียนร่วมกันด้วยชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ พบว่า รูปแบบฯ มีประสิทธิผลภาพรวมอยู่ในระดับมาก และครูมีความพึงพอใจต่อรูปแบบฯ อยู่ในระดับมาก
4. การประเมินรูปแบบการบริหารจัดการศึกษา เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมของครู โรงเรียนเมืองพัทยา 7 (บ้านหนองพังแค) ตามแนวคิดการพัฒนาบทเรียนร่วมกันด้วยชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ พบว่า รูปแบบฯ มีความเหมาะสมและเป็นไปได้อยู่ในระดับมาก