การพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็ก
ในศตวรรษที่ 21 กรณีศึกษา โรงเรียนเทศบาลวัดดอนเปา (กองคำราษฎร์นุสรณ์) อำเภอแม่วาง
จังหวัดเชียงใหม่
ผู้วิจัย ณิชาวีร์ สว่างพนาพันธุ์
ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง การพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อส่งเสริมคุณภาพผู้เรียนด้านทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 กรณีศึกษา โรงเรียนเทศบาลวัดดอนเปา (กองคำราษฎร์นุสรณ์) อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐาน แนวคิด และทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ที่ใช้ในการพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อส่งเสริมคุณภาพผู้เรียนด้านทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 กรณีศึกษา โรงเรียนเทศบาลวัดดอนเปา (กองคำราษฎร์นุสรณ์) 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อส่งเสริมคุณภาพผู้เรียนด้านทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 กรณีศึกษา โรงเรียนเทศบาลวัดดอนเปา (กองคำราษฎร์นุสรณ์) และ 3) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการบริหาร งานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อส่งเสริมคุณภาพผู้เรียนด้านทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 กรณีศึกษา โรงเรียนเทศบาลวัดดอนเปา (กองคำราษฎร์นุสรณ์) ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ตามลักษณะการเก็บข้อมูล ดังนี้ ระยะที่ 1 การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน แนวคิด และทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ ผู้บริหารสถานศึกษา โรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดเทศบาลตำบล ในจังหวัดเชียงใหม่ ปีการศึกษา 2562 จำนวน 5 โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านหนองตอง โรงเรียนสันป่าตองเทศบาลตำบลยุหว่า 1 โรงเรียนวัดสองแคว โรงเรียนเทศบาลจอมทอง 1 (ชุมชนบ้านข่วงเปาเหนือ) และโรงเรียนเทศบาลตำบลยางเนิ้ง โรงเรียนละ 1 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ระยะที่ 2 การตรวจสอบรูปแบบการบริหารงานวิชาการ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ บุคลากรโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดเทศบาลตำบล ในจังหวัดเชียงใหม่ ปีการศึกษา 2562 จำนวน 5 โรงเรียน โดยเป็นโรงเรียนเดิมที่ใช้ในการเก็บข้อมูลระยะที่ 1 ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา โรงเรียนละ 1 คน และเป็นครูผู้สอน โรงเรียนละ 4 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ระยะที่ 3 การประเมิน
ผลการใช้รูปแบบการบริหารงานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็ก ประชากรที่ใช้ในการวิจัย แบ่งออกเป็น 1) การประเมินความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบการบริหาร งานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อส่งเสริมคุณภาพผู้เรียนด้านทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 กรณีศึกษา โรงเรียนเทศบาลวัดดอนเปา (กองคำราษฎร์นุสรณ์) ประชากรที่ใช้ในการวิจัย เป็นครูผู้สอนโรงเรียนเทศบาลวัดดอนเปา (กองคำราษฎร์นุสรณ์) ปีการศึกษา 2562 จำนวน 10 คน 2) การประเมินพฤติกรรมด้านทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียน จากการใช้รูปแบบการบริหารงานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็ก ประชากรที่ใช้ในการศึกษาวิจัย เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 โรงเรียนเทศบาลวัดดอนเปา (กองคำราษฎร์นุสรณ์) ปีการศึกษา 2562 จำนวน 64 คน ประเมินโดยครูประจำชั้นของแต่ละชั้น ดำเนินการวิจัยตามกรอบแนวคิดการวิจัยและพัฒนา (Research and Development : R&D) 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 Analysis (R1) การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน แนวคิด และทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ขั้นที่ 2 Design & Development (D1) การออกแบบและพัฒนารูปแบบ ขั้นที่ 3 Implement (R2) การนำรูปแบบไปใช้ และขั้นที่ 4 Evaluation (D2) การประเมินและปรับปรุงรูปแบบ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) แบบวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบ 2) แบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และการใช้ประโยชน์ของรูปแบบ 3) แบบประเมินความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบ และ 4) แบบประเมินพฤติกรรมด้านทักษะชีวิตของนักเรียน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) และใช้สถิติ คือ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน แนวคิด และทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ที่ใช้ในการพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อส่งเสริมคุณภาพผู้เรียนด้านทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 กรณีศึกษา โรงเรียนเทศบาลวัดดอนเปา (กองคำราษฎร์นุสรณ์) พบว่า นโยบาย เป้าหมายการพัฒนาประเทศและการพัฒนาการศึกษามีความสอดคล้องเชื่อมโยงกัน คือ ต้องเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ โดยเร่งพัฒนาคนทุกช่วงวัยให้มีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ซึ่งทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 เป็นทักษะหนึ่งที่มีความสำคัญจำเป็นสำหรับนักเรียนในศตวรรษที่ 21 ทั้งในการดำเนินชีวิตในปัจจุบันและเป็นทักษะที่จำเป็นในอนาคต เนื่องจากทักษะชีวิตเป็นความสามารถในการปรับตัวได้ดีในสภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยใช้การคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจ และแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถอยู่ร่วมในสังคมที่มีความหลากหลายด้านวัฒนธรรมได้อย่างมีความสุข ทั้งนี้การพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 นั้น มีความสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ประกอบด้วย หลักคิด3 ประการ คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี เป็นหลักในการเตรียมความพร้อมรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจากกระแสโลกาภิวัตน์ จากความสำคัญของทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 ที่เป็นการเตรียมความพร้อมในตัวบุคคลเพื่อการดำรงชีวิตในปัจจุบันได้อย่างมีความสุขและรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต การบริหารสถานศึกษาในปัจจุบันจึงจำเป็นต้องก้าวให้ทันโลกศตวรรษที่ 21 คือ มุ่งเน้นในการพัฒนาผู้เรียนให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะด้านการบริหารงานวิชาการซึ่งถือเป็นภารกิจหลักและเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนสถานศึกษา เนื่องจากเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนให้เกิดผลตามเป้าหมาย และพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้มีทั้งความรู้และทักษะเพื่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 อาทิ มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และแก้ไขปัญหา มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีความเป็นผู้รับผิดชอบ มีความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว อย่างไรก็ตาม การบริหารงานวิชาการในโรงเรียนขนาดเล็ก มักประสบปัญหาหลายด้าน ทั้งด้านการบริหารหลักสูตร การจัดกระบวนการเรียนการสอน การวัดผลประเมินผล และการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา เนื่องจากครูผู้สอนมีจำนวนน้อยและครูบางส่วนขาดศักยภาพ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการพัฒนา ปรับปรุงแก้ไข โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อประสิทธิผลของการบริหาร งานวิชาการที่มีต่อคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ
2. รูปแบบการบริหารงานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อส่งเสริมคุณภาพผู้เรียนด้านทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 กรณีศึกษา โรงเรียนเทศบาลวัดดอนเปา (กองคำราษฎร์นุสรณ์) อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ที่พัฒนาขึ้น มีชื่อว่า “POAME Plus 3 Model" ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการบริหารงานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อส่งเสริมคุณภาพผู้เรียนด้านทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 และเงื่อนไขการนำรูปแบบไปใช้ โดยกระบวนการบริหารงานวิชาการ ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 Planning (P) การวางแผนการดำเนินงาน ขั้นตอนที่ 2 Organizing (O) การจัดองค์การ ขั้นตอนที่ 3 Active Learning (A) การจัดการเรียนรู้ ขั้นตอนที่ 4 Motivating (M) การจูงใจ และขั้นตอนที่ 5 Evaluation (E) การวัดผลประเมินผลการเรียนรู้ และการรายงานผลการสอนของครู
ผลการตรวจสอบความสมเหตุสมผลและความสอดคล้องของรูปแบบ พบว่า รูปแบบการบริหารงานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็ก แบบ “POAME Plus 3 Model" มีความสมเหตุสมผลกับหลักการ แนวคิด ทฤษฎีที่นำมาใช้ในการสังเคราะห์รูปแบบ มีความสอดคล้องกับสภาพความต้องการและจำเป็นในการบริหารงานวิชาการในโรงเรียนขนาดเล็กและสภาพบริบทของโรงเรียนขนาดเล็กที่สังกัดเทศบาลตำบล องค์ประกอบของรูปแบบและการดำเนินการตามองค์ประกอบมีความสอดคล้องสัมพันธ์กัน ผลการตรวจสอบความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และการใช้ประโยชน์ พบว่า ในภาพรวม รูปแบบการบริหารงานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็ก แบบ “POAME Plus 3 Model" มีความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และการใช้ประโยชน์ อยู่ในระดับมากที่สุดทั้ง 3 ด้าน
3. ผลการใช้รูปแบบการบริหารงานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อส่งเสริมคุณภาพผู้เรียนด้านทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 กรณีศึกษา โรงเรียนเทศบาลวัดดอนเปา (กองคำราษฎร์นุสรณ์) เป็นดังนี้ ผลการประเมินความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบ พบว่า ในภาพรวม มีความพึงพอใจต่อรูปแบบการบริหาร งานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็ก แบบ “POAME Plus 3 Model" อยู่ในระดับมาก และผลการประเมินพฤติกรรมด้านทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนจากการใช้รูปแบบ พบว่า ในภาพรวม นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีระดับคะแนนพฤติกรรมเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก