การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์โดยใช้รูปแบบของวารี (Waree model)
และความคิดสร้างสรรค์ สำหรับชั้นอนุบาลปีที่ 2
ผู้วิจัย : นางวารี ลือชัน ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
แหล่งวิจัย : โรงเรียนเทศบาล ๒ (วัดเกาะแก้ว) อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร สังกัดกองการศึกษา
เทศบาลเมืองชุมพร กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
ปีที่วิจัย : 2562
บทคัดย่อ
การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานและความคิดสร้างสรรค์ สำหรับชั้นอนุบาลปีที่ 2 ซึ่งในการวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานและความคิดสร้างสรรค์ สำหรับชั้นอนุบาลปีที่ 2 โดยใช้รูปแบบของวารี (Waree model) ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 และ 2) เพื่อศึกษาดัชนีประสิทธิผลของนักเรียนด้านทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานโดยใช้การจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานและความคิดสร้างสรรค์ สำหรับชั้นอนุบาลปีที่ 2 โดยใช้รูปแบบของวารี (Waree model) และ 3) เพื่อศึกษาดัชนีประสิทธิผลของนักเรียนด้านความคิดสร้างสรรค์โดยใช้การจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานและความคิดสร้างสรรค์ สำหรับชั้นอนุบาลปีที่ 2 กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชาย–หญิง ที่มีอายุระหว่าง 4-5 ปี กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนเทศบาล ๒ (วัดเกาะแก้ว) อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองชุมพร อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 8 คน ซึ่งได้มาด้วยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เนื่องจากครูผู้สอนเป็นครูประจำชั้น ทำการสอนเด็กมากกว่า 3 เดือน และเด็กมีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และความคิดสร้างสรรค์อยู่ในระดับเดียวกัน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ 1) แผนการจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานและความคิดสร้างสรรค์ สำหรับชั้นอนุบาลปีที่ 2 โดยใช้รูปแบบของวารี (Waree model) จำนวน 5 ขั้น ได้แก่ 1) ขั้นที่ 1 ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน (Warm up: W) 2) ขั้นที่ 2 ขั้นการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning: A) 3) ขั้นที่ 3 ขั้นการฝึกหรือการจดจำ (Recite : R) 4) ขั้นที่ 4 อธิบายและลงข้อสรุป (Explanation : E) และ 5) ขั้นที่ 5 ประเมิน (Evaluation : E) จำนวน 6 หน่วย ดังนี้ หน่วยที่ 1 ปลูกต้นไม้ลดโลกร้อน หน่วยที่ 2 ไฟฟ้า หน่วยที่ 3 เสียงรอบตัวเรา หน่วยที่ 4 ดินจ๋าดิน หน่วยที่ 5 ขอไข่มาแล้วจ๋า และหน่วยที่ 6 ผีเสื้อแสนสวน จำนวน 30 แผน แผนละ 40 นาที 2) แบบวัดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 จำนวน 30 ข้อ ชุดคำถามเพื่อประเมินทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 เป็นแบบปรนัย มี 3 ตัวเลือกใช้วัดทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ สำหรับเด็กปฐมวัยด้านต่าง ๆ ดังนี้ (1) ทักษะการสังเกต จำนวน 10 ข้อ (2) ทักษะการวัด จำนวน 10 ข้อ และ (3) ทักษะการจำแนก จำนวน 10 ข้อ รวมจำนวน 30 ข้อ มีค่าความยากง่ายระหว่าง 0.27 ถึง 0.71 ค่าอำนาจจำแนกระหว่าง 0.32 ถึง 0.79 และมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.934 และ 3) แบบวัดความคิดสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 จำนวน 20 ข้อ มีค่าความยากง่าย ระหว่าง 0.43-0.70 และมีค่าอำนาจจำแนก ระหว่าง 0.31-0.53 และมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.898 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าประสิทธิภาพ และค่าดัชนีประสิทธิผล
ผลการวิจัยและพัฒนา พบว่า
1. ประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานและความคิดสร้างสรรค์ สำหรับชั้นอนุบาลปีที่ 2 โดยใช้รูปแบบของวารี (Waree model) เท่ากับ 93.05/86.11, 93.41/90.00, 93.45/82.22 และ 93.51/84.58 ตามลำดับ ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ 80/80
2. ดัชนีประสิทธิผลของนักเรียนด้านทักษะกระบวนการพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์โดยใช้การจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานและความคิดสร้างสรรค์ สำหรับชั้นอนุบาลปีที่ 2 โดยใช้รูปแบบของวารี (Waree model) มีค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.7466 คิดเป็นร้อยละ 74.66
3. ดัชนีประสิทธิผลของนักเรียนด้านความคิดสร้างสรรค์โดยใช้การจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานและความคิดสร้างสรรค์ สำหรับชั้นอนุบาลปีที่ 2 โดยใช้รูปแบบของวารี (Waree model) มีค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.7658 คิดเป็นร้อยละ 76.58