รายงานการประเมินโครงการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
บ้านดง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ผู้ประเมิน นายอรรถชาติ หินแปง
ปีที่ประเมิน ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโรงเรียนศิษย์เก่าพยาบาลศิริราชบ้านดง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการ ด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต ใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) ของสตัฟเฟิลบีม ข้อมูลที่นำมาใช้ประเมินโครงการ ได้เก็บรวมรวมข้อมูลจากประชากรและกลุ่มตัวอย่าง โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 1 คน คณะครู จำนวน 8 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน การสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple random sampling) จากจำนวนผู้ปกครองนักเรียน ได้กลุ่มตัวอย่างผู้ปกครองนักเรียน 40 คน การเลือกกลุ่มตัวอย่างนักเรียนได้จากการสุ่ม โดยใช้ตารางของเครซี และมอร์แกน (R.V.Krejcie & Morgan) จำนวน 44 คน รวม จำนวน 100 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบประเมินประเมินโครงการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโรงเรียนศิษย์เก่าพยาบาลศิริราชบ้านดง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยผู้ประเมินสร้างขึ้นและเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมิน
1. ด้านบริบท พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก ได้แก่ การกำหนดเป้าหมายวิธีดำเนินการ และระยะเวลามีความเหมาะสม ปฏิบัติจริงได้ ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ในระดับมาก คือ บรรยากาศการดำเนินงานมีความสอดคล้องกับการดำเนินโครงการ
2. ด้านปัจจัยนำเข้า พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด ได้แก่ คณะกรรมการดำเนินโครงการประกอบด้วยผู้บริหารครูและบุคลากรในโรงเรียน ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ในระดับมาก คือมีการจัดสรรงบประมาณดำเนินโครงการเหมาะสมและเพียงพอ
3. ด้านกระบวนการ พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ การดำเนินกิจกรรมที่กำหนดในโครงการตามขั้นตอนทุก ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ในระดับมาก คือ การกำหนดบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองนักเรียน
4. ด้านผลผลิต พบว่า ในด้านที่1 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน พบว่า นักเรียนโรงเรียนศิษย์เก่าพยาบาลศิริราชบ้านดงมีผลผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในภาพรวมเพิ่มขึ้น ผ่านเกณฑ์ประเมิน ส่วนด้านที่ 2 คุณภาพของผู้เรียนตามคุณลักษณะของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ผ่านเกณฑ์การประเมิน และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด ได้แก่ สามารถสื่อสารกับเพื่อน ครูผู้สอน และบุคคลอื่น ๆ ในการทำงานร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ ความคิดเห็นระหว่างกันได้ ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด อยู่ในระดับมาก คือ สามารถสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ สิ่งประดิษฐ์ เทคนิค วิธีการ หรือกระบวนการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมได้ สำหรับด้านที่ 3 ความพึงพอใจต่อการดำเนินการโครงการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน พบว่า ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองนักเรียน และนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการดำเนินการโครงการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด ได้แก่ โครงการทำให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน(O-NET) เพิ่มขึ้น ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือ โครงการทำให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน(O-NET) เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับน้อย