การจัดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน เรื่อง Good Health
ชื่อผู้ศึกษา นายเกรียงไกร ราวิชัย ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนเทศบาลวัดป่าแพ่ง สำนักการศึกษา เทศบาลนครเชียงใหม่
ปีที่รายงาน 2561
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาประสิทธิภาพและดัชนีประสิทธิผลของแผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน เรื่อง Good Health And Well Being สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาลวัดป่าแพ่ง ตามเกณฑ์ 80/80 และดัชนีประสิทธิผล 0.5 (2) เปรียบเทียบความสามารถในการจำคำศัพท์ภาษาอังกฤษระหว่างก่อนและหลังการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน เรื่อง Good Health And Well Being ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาลวัดป่าแพ่ง และ (3) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาลวัดป่าแพ่ง ที่มีต่อการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน เรื่อง Good Health And Well Being กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4/1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนเทศบาลวัดป่าแพ่ง จำนวน 17 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วย (1) แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน เรื่อง Good Health And Well Being สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ประกอบด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 20 แผน รวม 20 ชั่วโมง (2) แบบทดสอบความสามารถในการจำคำศัพท์ภาษาอังกฤษ เรื่อง Good Health And Well Being ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เป็นแบบเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 4 หน่วย หน่วยละ 10 ข้อ รวม 40 ข้อ และ (3) แบบวัดความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาลวัดป่าแพ่ง ที่มีต่อการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน เรื่อง Good Health And Well Being เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) ซึ่งมี 5 ระดับ ได้แก่ ความพึงพอใจในระดับมากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย และน้อยที่สุด ตามลำดับ จำนวน 10 ข้อ วิเคราะห์ประสิทธิภาพและดัชนีประสิทธิผล ของแผนการจัดการเรียนรู้ โดยใช้สูตร E1/E2 มีเกณฑ์ตัดสินต้องไม่ต่ำกว่า 80/80 และหาค่าดัชนีประสิทธิผล โดยใช้สูตร E.I. มีเกณฑ์ตัดสินต้องไม่ต่ำกว่า 0.5 วิเคราะห์หาความสามารถในการจำคำศัพท์ภาษาอังกฤษระหว่างก่อนและหลังการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เปรียบเทียบความแตกต่าง โดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่า t-test (Dependent Samples) และวิเคราะห์หาค่าความพึงพอใจ โดยนำแบบวัดความพึงพอใจของนักเรียนมารวมคะแนนแล้ววิเคราะห์หาค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการศึกษาพบว่า
1. แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน เรื่อง Good Health And Well Being สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 80/80 โดยมีประสิทธิภาพ เท่ากับ 91.22/87.06 และมีค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.8755 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ที่ 0.5
2. ความสามารถในการจำคำศัพท์ภาษาอังกฤษหลังการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน เรื่อง Good Health And Well Being ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาลวัดป่าแพ่ง สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาลวัดป่าแพ่ง มีความพึงพอใจต่อการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน เรื่อง Good Health And Well Being โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย = 4.66, ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.09)