การจัดประสบการณ์แบบพหุปัญญาเชิงสร้างสรรค์ร่วมกับหนังสือ_ครูวารี
ภาพประกอบคำคล้องจองเพื่อพัฒนาทักษะภาษา และทักษะกระบวนการคิด
ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3
ผู้วิจัย: นางวารี ลือชัน ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนเทศบาล ๒ (วัดเกาะแก้ว) อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร สังกัดกองการศึกษา
เทศบาลเมืองชุมพร กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
ปีที่วิจัย: 2562-2563
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้ เป็นการวิจัยแบบการวิจัยแบบกลุ่มเดียวหรือรายกรณี (One Shot Case Study) มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1)เพื่อพัฒนาการจัดประสบการณ์แบบพหุปัญญาเชิงสร้างสรรค์ (C-ACACA) ร่วมกับหนังสือภาพประกอบคำคล้องจองเพื่อพัฒนาทักษะภาษา และทักษะกระบวนการคิดของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 และ 2) เพื่อศึกษาดัชนีประสิทธิผลของการจัดประสบการณ์แบบพหุปัญญาเชิงสร้างสรรค์ (C-ACACA) ร่วมกับหนังสือภาพประกอบคำคล้องจองเพื่อพัฒนาทักษะภาษาและทักษะกระบวนการคิด ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3
กลุ่มเป้าหมายที่วิจัยเป็น นักเรียนชาย-หญิง ที่มีอายุระหว่าง 5-6 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นอนุบาลปีที่ 3 ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนเทศบาล ๒ (วัดเกาะแก้ว) อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองชุมพร จำนวน 8 คน โดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ซึ่งห้องเรียนที่ผู้วิจัยเป็นครูผู้สอนประจำชั้นเรียน
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แผนการจัดประสบการณ์แบบพหุปัญญาเชิงสร้างสรรค์ (C-ACACA) ร่วมกับหนังสือภาพประกอบคำคล้องจองเพื่อพัฒนาทักษะภาษาและทักษะกระบวนการคิด ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ประกอบด้วย หน่วยการเรียนรู้ 6 หน่วย ที่ได้จาการวิเคราะห์หลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 ของโรงเรียนเทศบาล ๒ (วัดเกาะแก้ว) สำหรับการจัดประสบการณ์ 6 สัปดาห์ ๆ ละ 5 วัน ๆ ละ 40 นาที ได้แก่ 1)หน่วยการบ้านน้อยของฉัน 2) หน่วยร่างกายของเรา 3) หน่วยของเล่นแสนรัก 4) หน่วยของดีเมืองชุมพร 5) หน่วยประเพณีวัฒนธรรมเมืองชุมพร และ 6) หน่วยท่องเที่ยวชุมพร 2) หนังสือภาพประกอบคำคล้องจอง เพื่อพัฒนาทักษะภาษาและทักษะกระบวนการคิดของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 จำนวน 6 เล่ม 3) แบบประเมินสาระที่ควรรู้ด้านทักษะทางภาษาและทักษะกระบวนการคิด ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น เล่มละ 5 ข้อ รวมทั้งสิ้น จำนวน 20 ข้อ
ผลการวิจัย พบว่า
1. ประสิทธิภาพของการจัดประสบการณ์แบบพหุปัญญาเชิงสร้างสรรค์ (C-ACACA) ร่วมกับหนังสือภาพประกอบคำคล้องจองเพื่อพัฒนาทักษะภาษาและทักษะกระบวนการคิด ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 เท่ากับ 85.62/87.50 ผ่านเกณฑ์ประสิทธิภาพ 80/80
2. ดัชนีประสิทธิผลของการจัดประสบการณ์แบบพหุปัญญาเชิงสร้างสรรค์ (C-ACACA) ร่วมกับหนังสือภาพประกอบคำคล้องจองเพื่อพัฒนาทักษะภาษาและทักษะกระบวนการคิด ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 เท่ากับ 0.8095 หรือ คิดเป็นร้อยละ 80.95