การวิจัยและพัฒนาการบริหารระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน
NADINDAM MODEL เพื่อพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลนาดินดำ
อำเภอเมือง จังหวัดเลย
ผู้วิจัย นางสาวสุพัตรา กลิ่นศรีสุข
ปีที่ทำการวิจัย ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อวิเคราะห์สภาพและความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และ การพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลนาดินดำ 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนด้วยกระบวนการบริหาร แบบ NADINDAM MODEL เพื่อพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลนาดินดำ 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการบริหารระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนด้วยกระบวนการบริหาร แบบ NADINDAM MODEL เพื่อพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลนาดินดำ และ 4) เพื่อประเมินประสิทธิผลของรูปแบบการบริหารระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนด้วยกระบวนการบริหาร แบบ NADINDAM MODEL เพื่อพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลนาดินดำ ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ฝ่ายบริหารโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษา และนักเรียน โรงเรียนเทศบาลนาดินดำ ปีการศึกษา 2562 จำนวน 230 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) รูปแบบการบริหารระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนด้วยกระบวนการบริหาร แบบ NADINDAM MODEL 2) แบบประเมินคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลนาดินดำ และ3) แบบประเมินความพึงพอใจต่อรูปแบบการบริหารระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนด้วยกระบวนการบริหาร แบบ NADINDAM MODEL สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ (percentage) ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัย พบว่า
1. สภาพและความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน พบว่า โรงเรียนเทศบาลนาดินดำ ดำเนินการตามกระบวนการของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน 5 ประการ คือ การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล การคัดกรองนักเรียน การส่งเสริมนักเรียน การป้องกันและแก้ไขปัญหา และการส่งต่อการบริหารใช้หลักการบริหารคุณภาพ 4 ขั้นตอน ได้แก่ การวางแผน การดำเนินงาน การตรวจสอบประเมินผล และการปรับปรุงพัฒนา และผู้เกี่ยวข้องมีความคิดเห็นว่าครูประจำชั้นยังไม่รู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคลเท่าที่ควร ไม่สามารถคัดกรองนักเรียนออกเป็นกลุ่มต่างๆ ได้ รวมทั้งการจัดกิจกรรมดูแลช่วยเหลือนักเรียน ยังไม่ครอบคลุม และครูประจำชั้นบางห้องเรียนยังจัดกิจกรรมดูแลช่วยเหลือนักเรียนในภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และไม่มีการรายงานผลตามปฏิทินการปฏิบัติงาน
2. สภาพและความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนเทศบาล นาดินดำ พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่มีผลการประเมินคุณลักษณะที่พึงประสงค์อยู่ในระดับดีถึงดีมาก แต่ก็ยังมีนักเรียนบางคนมีผลการประเมินคุณลักษณะที่พึงประสงค์ไม่ผ่านเป็นบางข้อ และมีนักเรียนบางส่วน มีความบกพร่องในเรื่อง การมีวินัยในตนเอง ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์สุจริตและยอมรับความผิดพลาด ของตนเองและผู้อื่น การรู้จักประหยัดและปฏิบัติตนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การมีสัมมาคารวะและมารยาทตามวัฒนธรรมไทย ตลอดจนการเชื่อมโยงความรู้และทักษะต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เป็นต้น ซึ่งควรรีบแก้ไขและควรสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อเป็นเครือข่าย ความร่วมมือ ในการปรับพฤติกรรมให้เป็นไปในทางที่ถูกต้องและ พึงประสงค์
3. รูปแบบการบริหารระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนด้วยกระบวนการบริหาร แบบ NADINDAM MODEL เพื่อพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลนาดินดำ มี 6 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) การวางแผน(Planning) 2) มอบหมายความรับผิดชอบ (Responsibility Assigned) 3) การวิเคราะห์ภาระงาน (Analyzing Workload) 4) การดำเนินงาน(Implementation) 5) การส่งเสริมสนับสนุน (Subservience Supporting) และ 6) การประเมินผล (Evaluation)
4. ผลการประเมินประสิทธิผลของรูปแบบการบริหารระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนด้วยกระบวนการบริหาร แบบ NADINDAM MODEL เพื่อพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลนาดินดำ พบว่าผลการประเมินคุณลักษณะที่พึงประสงค์นักเรียนร้อยละ 100 ผ่านเกณฑ์การประเมิน โดยนักเรียนร้อยละ 96.35 มีผลการประเมินอยู่ในระดับดีเยี่ยม นักเรียนร้อยละ 2.71 มีผลการประเมินอยู่ในระดับดี และนักเรียนร้อยละ 0.95 มีผลการประเมินอยู่ในระดับผ่านเกณฑ์การประเมิน และ มีความคิดเห็นว่าควรส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ที่ได้รับมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบ ติดตามทบทวนความเข้าใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรอย่างต่อเนื่อง จัดโครงสร้างการทำงาน มีผู้รับผิดชอบทุกขั้นตอน เสริมสร้างความเข้มแข็งและกำหนดขั้นตอนการประสานงาน สนับสนุนสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆ ให้เพียงพอทันต่อการใช้งาน