เผยแพร่ผลงานทางวิชาการ จิภัสธกานต์ อัศวกุลทพัชร
โรงเรียนเทศบาล ๑ (ชุมชนบ้านอุดมทอง) กองการศึกษา เทศบาลตำบลพะตง
อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ผู้วิจัย : นางจิภัสธกานต์ อัศวกุลทพัชร ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษาชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนเทศบาล ๑ (ชุมชนบ้านอุดมทอง) กองการศึกษา เทศบาลตำบลพะตง
อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ปีที่วิจัย : 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาครูโรงเรียนเทศบาล ๑ (ชุมชนบ้านอุดมทอง) กองการศึกษา เทศบาลตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ให้มีความรู้ความเข้าใจ มีทักษะการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการคิดวิเคราะห์ และมีความสามารถด้านการวัดและประเมินผลด้านการคิดวิเคราะห์ได้ โดยดำเนินการวิจัยแบบการวิจัยปฏิบัติการ (Action Research) ซึ่งเป็นการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ในลักษณะหมุนรอบตัวแบบเกลียวสว่านตามแนวคิดของ Kurt Lewin ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนคือ คือ การวางแผน (Planning) การค้นหาความจริง (Fact –finding) การดำเนินการ (Execution) และการวิเคราะห์ผล (Analysis) กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ ครูผู้สอน ในโรงเรียนเทศบาล ๑ (ชุมชนบ้านอุดมทอง) กองการศึกษา เทศบาลตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จำนวน 26 คน วิทยากร จำนวน 1 คน ศึกษานิเทศก์ จำนวน 1 คน ผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 1 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1- 6 จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลในครั้งนี้มี 5 ประเภท ได้แก่ 1. แบบทดสอบจำนวน 1 ฉบับ
2. แบบสัมภาษณ์จำนวน 1 ฉบับ 3. แบบประเมินจำนวน 2 ฉบับ 4. แบบวัดความพึงพอใจจำนวน 1 ฉบับ และ 5. แบบสังเกตจำนวน 1 ฉบับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบไปด้วย ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย พบว่า
ผลการพัฒนาบุคลากรในวงรอบที่ 1 โดยใช้กลยุทธ์ในการพัฒนา คือ การประชุมเชิงปฏิบัติการและการนิเทศภายใน ซึ่งผลจากการใช้กลยุทธ์การประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถเขียนแผนการจัดการเรียนรู้โดยบูรณาการหลักการคิดวิเคราะห์ได้ จากการทดสอบกลุ่มผู้ร่วมวิจัยเพื่อวัดความรู้ความเข้าใจหลักการคิดวิเคราะห์และวัดความรู้ความเข้าใจในการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้โดยบูรณาการหลักการคิดวิเคราะห์ พบว่า ผู้ร่วมวิจัยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการคิดวิเคราะห์และการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้โดยบูรณาการหลักการคิดวิเคราะห์ และเมื่อวิทยากรทำการประเมินการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ ผลปรากฏว่า กลุ่มผู้ร่วมวิจัยทั้ง 26 คน สามารถเขียนแผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้การคิดวิเคราะห์ได้ โดยมีผลการประเมินแผนการจัดการเรียนรู้มีความเหมาะสมในระดับมาก และการนิเทศภายในจากวิทยากร ศึกษานิเทศก์และผู้อำนวยการสถานศึกษา ทำการนิเทศแผนการจัดการเรียนรู้ โดยการประเมินแผนการจัดการเรียนรู้และนิเทศการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยสังเกตพฤติกรรมการแสดงออกขณะทำการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ประเมินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อให้คำแนะนำช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาแก่กลุ่มผู้ร่วมวิจัยจนสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยเน้นการคิดวิเคราะห์ 5 ขั้นตอนได้ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ คือ ในขั้นจัดกิจกรรมการเรียนรู้พบว่า ครูข้ามขั้นตอนกิจกรรมการสอนที่เชื่อมโยงการคิดวิเคราะห์ให้เข้ากับประสบการณ์การเรียนรู้ในและนอกห้องเรียนของผู้เรียน การจัดกระบวนการเรียนรู้โดยใช้แหล่งเรียนรู้ที่ไม่หลากหลาย และในขั้นประเมินผลการเรียนรู้ให้ครอบคลุมจุดประสงค์การเรียนรู้ พบว่า ครูขาดการวัดผลประเมินผลการเรียนที่ครอบคลุมทั้งด้านความรู้ ทักษะ กระบวนการ ผลงานและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียน ดังนั้น เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดในระหว่างการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ รวมถึงการเสนอแนะแนวทางที่ปฏิบัติแล้วเกิดผลดี กลุ่มผู้ร่วมวิจัยจึงวางแผนการดำเนินการพัฒนาบุคลากรด้านการจัดกิจกรรมการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการคิดวิเคราะห์ของวงรอบที่ 2
ผลการพัฒนาบุคลากรในวงรอบที่ 2 โดยใช้กลยุทธ์ การนิเทศภายใน พบว่า กลุ่มผู้ร่วมวิจัยสามารถนำแผนการจัดการเรียนรู้ไปจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้การคิดวิเคราะห์ตามแนวทางการจัดการเรียนรู้ของกรมวิชาการ 5 ขั้นตอนได้ดี สามารถกำหนดขอบเขตเนื้อหาที่จะสอน และออกแบบกิจกรรมให้สอดคล้องกับเวลา ลักษณะของกิจกรรมเน้นให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้มากที่สุด มีการนำการคิดวิเคราะห์สอดแทรกในกิจกรรมการเรียนรู้ สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้การคิดวิเคราะห์ ซึ่งกลุ่มผู้ร่วมวิจัยมีความมั่นใจในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สามารถเชื่อมโยงการคิดวิเคราะห์ให้เข้ากับกิจกรรมการเรียนรู้ นักเรียนสามารถสรุปองค์ความรู้ที่ได้จากกิจกรรมการเรียนรู้ให้เชื่อมโยงกับการคิดวิเคราะห์ได้ สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนที่ยึดครูเป็นศูนย์กลางมาเป็นการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เน้นให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองได้ และสามารถประเมินผลการเรียนรู้ให้ครอบคลุมจุดประสงค์การเรียนรู้ตามที่กำหนด โดยครูมีการประเมินผลตามสภาพจริงของผู้เรียน ครูวัดและประเมินผลโดยใช้การคิดวิเคราะห์เชื่อมโยงกับทักษะความรู้ กระบวนการและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน และนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการคิดวิเคราะห์ในระดับมาก