การจัดกิจกรรมการสอนห้องเรียนกลับด้านร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือ
รายวิชาคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
ผู้ทำวิจัย นางกรรณิการ์ นิธิศธนากุล
โรงเรียน โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์(วังชมภูวิทยาคม) อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์
ปีการศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การศึกษานำร่อง เรื่อง การจัดกิจกรรมการสอนห้องเรียนกลับด้านร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือ รายวิชาคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีจุดมุ่งหมายของการวิจัยดังนี้ 1) เพื่อศึกษาการพัฒนาการจัดกิจกรรมการสอนห้องเรียนกลับด้านร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือ รายวิชาคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 2) เพื่อเพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ก่อนเรียนและหลังเรียนการจัดกิจกรรมการสอนห้องเรียนกลับด้านร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือ รายวิชาคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และ 3) เพื่อประเมินความพึงพอใจการจัดกิจกรรมการสอนห้องเรียนกลับด้านร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือ รายวิชาคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มตัวอย่างในการดำเนินงานวิจัย ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 ท่าน ครูผู้สอนรายวิชาคณิตศาสตร์ จำนวน 10 ท่าน และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/1 โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ (วังชมภูวิทยาคม) จำนวน 29 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิเรื่องการจัดกิจกรรมการสอนห้องเรียนกลับด้านร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือ รายวิชาคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 แบบสัมภาษณ์ครูผู้สอนรายวิชาคณิตศาสตร์เรื่องการจัดกิจกรรมการสอนห้องเรียนกลับด้านร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือ รายวิชาคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ จำนวน 20 ข้อ และแบบประเมินความพึงพอใจการจัดกิจกรรมการสอนห้องเรียนกลับด้านร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือ รายวิชาคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
ผลการศึกษาพบว่า
1. ผลการพัฒนาการจัดกิจกรรมการสอนห้องเรียนกลับด้านร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือ รายวิชาคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยผลการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่า การจัดกิจกรรมการสอนห้องเรียนกลับด้านร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือ เป็นการใช้กระบวนการกลุ่มให้นักเรียนได้ร่วมกันคิดแก้ปัญหา นักเรียนสามารถศึกษาบทเรียนทั้งก่อนและหลังเรียน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและทำกิจกรรมกลุ่ม นักเรียนกับครูร่วมกันสรุปองค์ความรู้ที่เกิดจากการวิเคราะห์ สังเคราะห์ แก้ปัญหาโดนกระบวนการกลุ่ม เกิดเป็นองค์ความรู้และทักษะที่ติดทนกับตัวนักเรียน และผลการสัมภาษณ์ครูผู้สอนรายวิชาคณิตศาสตร์ พบว่า ต้องจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบกลุ่ม สมาชิกทุกคนภายในกลุ่มต้องมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม ทบทวนประเด็นเนื้อหาเพิ่มเติมแล้วนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้
2. ผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน ก่อนเรียนมีคะแนนเฉลี่ย 11.48 และหลังเรียนมีคะแนนเฉลี่ย 17.97 เมื่อทำการทดสอบโดยใช้สถิติทดสอบที (t-test) พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ผลการการประเมินความพึงพอใจการจัดกิจกรรมการสอนห้องเรียนกลับด้านร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือ รายวิชาคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ในภาพรวมมีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด