การพัฒนารูปแบบการสอน RICH MODEL เรื่อง ระบบสมการเชิงเส้น
ทักษะการให้เหตุผล การแก้ปัญหา และการสื่อสารทางคณิตศาสตร์ ของนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ชื่อผู้วิจัย สมหมาย แก้วมณี
สถานที่ โรงเรียนเทศบาล ๓ (ตลาดล่าง) เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี
ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาและทดสอบประสิทธิภาพของการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน RICH MODEL เรื่อง ระบบสมการเชิงเส้น ที่เสริมสร้างทักษะการให้เหตุผล การแก้ปัญหา และการสื่อสารทางคณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 2) เพื่อศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนการสอน RICH MODEL เรื่อง ระบบสมการเชิงเส้น ที่เสริมสร้างทักษะการให้เหตุผล การแก้ปัญหา และการสื่อสารทางคณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 2.1) เปรียบเทียบทักษะการให้เหตุผล ก่อนและหลังเรียนรูปแบบการเรียนการสอน 2.2) เปรียบเทียบทักษะการแก้ปัญหาก่อนและหลังการใช้รูปแบบการเรียนการสอน 2.3) เปรียบเทียบทักษะการสื่อสารทางคณิตศาสตร์ก่อนและหลังการใช้รูปแบบการเรียนการสอน และ 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการเรียนการสอน เป็นการวิจัยและพัฒนา โดยกำหนดรูปแบบการทดลองแบบหนึ่งกลุ่มทดลองก่อนและหลังการทดลอง กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/1 โรงเรียนเทศบาล ๓ (ตลาดล่าง) เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 24 คน ได้มาจากการสุ่มแบบกลุ่ม (cluster random sampling) โดยมีห้องเรียนเป็นหน่วยสุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) รูปแบบการเรียนการสอน RICH MODEL เรื่อง ระบบสมการเชิงเส้น ที่เสริมสร้างทักษะการให้เหตุผล การแก้ปัญหา และการสื่อสารทางคณิตศาสตร์ ของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 4 ชุด และแผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 18 แผน ชั่วโมงสอน 18 ชั่วโมง 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นแบบเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่น (KR-20) เท่ากับ 0.86 3) แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการเรียน การสอน RICH MODEL มีค่าความเชื่อมั่น ( ) เท่ากับ 0.83 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าทีแบบไม่อิสระและการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า
1. รูปแบบการเรียนการสอนที่เสริมสร้างทักษะการให้เหตุผล การแก้ปัญหา และการสื่อสารทางคณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีชื่อว่า “RICH MODEL” ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบเชิงหลักการ และวัตถุประสงค์ องค์ประกอบเชิงกระบวนการ ซึ่งประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ดังนี้ 1) ขั้นทบทวน (Reviewing : R) เป็นขั้นทบทวนพื้นฐานความรู้เดิม เพื่อเชื่อมโยงความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ 2) ขั้นสืบเสาะ (Inquiring : I) เป็นขั้นสืบเสาะหาข้อมูลเพื่อวางแผนแก้ปัญหา 3) ขั้นสร้างสรรค์และตรวจสอบ (Creating and Checking : C) เป็นขั้นที่ออกแบบกระบวนการและตรวจสอบ และ 4) ขั้นการฝึกทักษะให้เกิดความชำนาญ (Habituating : H) เป็นขั้นที่ฝึกปฏิบัติบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ ให้เกิดเป็นทักษะและองค์ประกอบเชิงเงื่อนไขการนำรูปแบบไปใช้ โดยที่ผลการทดสอบค่าประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนการสอน RICH MODEL เรื่อง ระบบสมการเชิงเส้น ที่เสริมสร้างทักษะการให้เหตุผล การแก้ปัญหา และการสื่อสารทางคณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 82.71/82.92 ตามเกณฑ์ 80/80
2. หลังการทดลองใช้รูปแบบ พบว่า นักเรียนมีทักษะการให้เหตุผล การแก้ปัญหา และ การสื่อสารทางคณิตศาสตร์ หลังเรียนตามรูปแบบการเรียนการสอนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการเรียนการสอนโดยภาพรวมอยู่ในระดับ มากที่สุด
4. ผลการขยายผล พบว่า หลังการทดลองใช้รูปแบบ พบว่า นักเรียนมีทักษะการให้เหตุผล การแก้ปัญหา และการสื่อสารทางคณิตศาสตร์ หลังเรียนตามรูปแบบการเรียนการสอนสูงกว่า ก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบ การเรียนการสอนโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด