การบริหารงานวิชาการแบบมีส่วนร่วมและแนวคิด 3 H เพื่อพัฒนาคุณภาพ
โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา
บทคัดย่อ
การรายงานผลครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาผลการมีส่วนร่วมและแนวคิด 3 H ในการบริหารงานวิชาการ 2) เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลาด้วยรูปแบบการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมและแนวคิด 3 H 3) เพื่อศึกษาผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลาด้วยรูปแบบการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมและแนวคิด 3 H
กลุ่มเป้าหมายเป็น 1) คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครอง นักเรียน ครู ปีการศึกษา 2562 จำนวน 110 คน กำหนดกลุ่มตัวเป้าหมายโดยใช้สูตรยามาเน่ 2) นักเรียนโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา ปีการศึกษา 2562 จำนวน 2,227 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินงาน ได้แก่ 1) แบบสอบถามการบริหารวิชาการแบบมีส่วนร่วมและแนวคิด 3 H 2) แบบวัดความสามารถของสถาบันการทดสอบแห่งชาติ(องค์กรมหาชน) 3) แบบวัดความสามารถแต่ละวิชาของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ 4) แบบทดสอบวัดความสามารถการแข่งขันทักษะทางวิชาการงานศิลปหัตถกรรม 5) แบบประเมินความสามารถในการรู้เรื่องการอ่าน (Reading Literacy) ตามแนวทางการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ PISA 6) แบบประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์
ผลการดำเนินการพบว่า การมีส่วนร่วมและแนวคิด 3 H ในการบริหารงานวิชาการ ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ทุกด้านมีส่วนร่วมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยด้านการพัฒนาหลักสูตรอยู่ในระดับมากที่สุดเป็นอันดับแรก รองลงมาด้านการวัดและประเมินผล
การบริหารงานวิชาการแบบมีส่วนร่วมและแนวคิด 3 H ส่งผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนด้านการพัฒนาหลักสูตร ด้านการจัดการเรียนการสอน ด้านการวัดและประเมินผล ด้านสื่อการเรียนสอนดังนี้ 1) ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ระดับโรงเรียนสูงกว่าระดับประเทศทุกรายวิชา 2) ร้อยละของนักเรียนที่ได้ระดับผลการเรียนระดับ 3 ถึง 4 ปีการศึกษา 2562 เพิ่มขึ้นจากปีการศึกษา 2561 3) ผลการแข่งขันทักษะทางวิชาการงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ของนักเรียนโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา ปีการศึกษา 2562 นักเรียนได้เหรียญทองเพิ่มขึ้นจากปีการศึกษา 2561 4) ร้อยละการอ่านคิดวิเคราะห์และเขียนระดับดีเยี่ยม ปีการศึกษา 2562 เพิ่มขึ้นจากปีการศึกษา 2561 5) ผลการประเมินความสามารถในการรู้เรื่องการอ่าน (Reading Literacy) ตามแนวทางการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ PISA ปีการศึกษา 2562 ครั้งที่ 4 เพิ่มขึ้นจากปีการศึกษา 2562 ครั้งที่ 3 โดยผลการประเมินนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เพิ่มมากสุด 6) ร้อยละของนักเรียนที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารในชีวิตประจำวันอยู่ในระดับดีขึ้นไป ปีการศึกษา 2562 เพิ่มขึ้นจากปีการศึกษา 2561 7) ร้อยละของนักเรียนที่ผลการเรียนรายวิชา IS อยู่ในระดับดีขึ้นไปปีการศึกษา 2562 เพิ่มขึ้นจากปีการศึกษา 2561 8) ร้อยละของนักเรียนที่มีคุณลักษณ์อันพึงประสงค์ปีการศึกษา 2562 ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 100