การวิจัยและพัฒนาหลักสูตรประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
ผู้วิจัย พรเพชร โสอินทร์
โรงเรียน โรงเรียนเมืองพัทยา 11 (มัธยมสาธิตพัทยา) สำนักการศึกษาเมืองพัทยา
ปีที่วิจัย 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาวิเคราะห์ความสำคัญและความจำเป็นของหลักสูตรประวัติศาสตร์ท้องถิ่น 2) สร้างหลักสูตรประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เรื่อง มรดกเมืองชล ด้วยเทคนิคการใช้ใบงานและผังกราฟิก เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 3) ทดลองใช้หลักสูตรประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เรื่อง มรดกเมืองชล ด้วยเทคนิคการใช้ใบงานและผังกราฟิก เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และ 4) ประเมินผลการใช้หลักสูตรประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เรื่อง มรดกเมืองชล ด้วยเทคนิคการใช้ใบงานและผังกราฟิก เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 37 คน โดยเลือกแบบเจาะจง (Purposive sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่ 1) หลักสูตรประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เรื่อง มรดกเมืองชล 2) แบบสอบถามปลายเปิดเกี่ยวกับความสำคัญและความจำเป็นของหลักสูตรประวัติศาสตร์ท้องถิ่น 3) แบบประเมินความเหมาะสมของหลักสูตร 4) แบบทดสอบการคิดวิเคราะห์และคิดสังเคราะห์ และ 5) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อหลักสูตรประวัติศาสตร์ท้องถิ่นฯ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบค่าที (t-test)
ผลการวิจัยพบว่า
1. หลักสูตรประวัติศาสตร์ท้องถิ่น มีความจำเป็นต่อการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ เนื่องจากประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสะท้อนให้เห็นถึงรากเหง้า เกิดจิตสำนึก ตระหนักและเห็นคุณค่า เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทย
2. หลักสูตรประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เรื่อง มรดกเมืองชล ด้วยเทคนิคการใช้ใบงานและผังกราฟิก เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประกอบด้วย 1) หลักการ 2) จุดมุ่งหมาย 3) คำอธิบายรายวิชา 4) เนื้อหา 5) หน่วยการเรียนรู้ 6) ระยะเวลาการใช้หลักสูตร 7) แนวการจัดการเรียนรู้ 8) โครงสร้างหลักสูตร 9) สื่อ/แหล่งเรียนรู้ 10) การวัดและประเมินผล 11) แนวทางการดำเนินการตามหลักสูตร และ 12) แผนการจัดการเรียนรู้
3. หลังจากทดลองใช้หลักสูตรประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เรื่อง มรดกเมืองชล ด้วยเทคนิคการใช้ใบงานและผังกราฟิก เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีทักษะการคิดวิเคราะห์และคิดสังเคราะห์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีความพึงพอใจต่อหลักสูตรประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เรื่อง มรดกเมืองชล ที่สร้างขึ้นในภาพรวมอยู่ในระดับมาก