การประเมินโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนร.รร.วัดราษฎร์สโมสร
วัดราษฎร์สโมสร
ชื่อผู้ประเมิน : นางสาวโชติกา นิลมะณี
ปีที่ประเมิน : ปีการศึกษา 2563
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนโรงเรียนวัดราษฎร์สโมสร มีวัตถุประสงค์ของการประเมิน 1)เพื่อประเมินบริบทของโครงการเกี่ยวกับความสอดคล้องระหว่างวัตถุประสงค์ของโครงการกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ นโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นโยบายของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 2 นโยบายโรงเรียน และความต้องการจำเป็นของโรงเรียน 2) เพื่อประเมินปัจจัยเบื้องต้นของโครงการเกี่ยวกับความเหมาะสมเพียงพอของโครงการใน 4 กิจกรรม เกี่ยวกับวิทยากร งบประมาณ ระยะเวลา สถานที่ วัสดุอุปกรณ์ ความรู้ความสามารถของคณะทำงาน การสนับสนุนของฝ่ายบริหารโรงเรียน ผู้ปกครอง และบุคลากรในชุมชน 3 ) เพื่อประเมินประสิทธิภาพของกระบวนการดำเนินงานตามโครงการเกี่ยวกับความร่วมมือของคณะกรรมการและผู้เกี่ยวข้อง ปฏิทินการปฏิบัติงาน บทบาทหน้าที่ ขั้นตอน จุดเด่น จุดด้อย การนิเทศติดตามผลและสิ่งที่ต้องแก้ไขในการดำเนินงาน 4 ) เพื่อประเมินผลผลิตของโครงการเกี่ยวกับพฤติกรรมคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียน ด้านความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ ความมีเหตุผล ความกตัญญูกตเวที ความมีวินัย ความเสียสละ ความสามัคคี ความประหยัด การพึ่งตนเอง ความขยันหมั่นเพียรและความเมตตา และความพึงพอใจที่มีต่อโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียน 5 ) เพื่อประเมินผลกระทบของโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมที่มีต่อโรงเรียน ผู้บริหาร คณะครู และนักเรียนโรงเรียนวัดราษฎร์สโมสร
กลุ่มเป้าหมาย ที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ ได้แก่ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนวัดราษฎร์สโมสร จำนวน 7 คน ผู้บริหารและคณะครูโรงเรียนวัดราษฎร์สโมสร จำนวน 19 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 118 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 118 คน ผู้นำชุมชนและหน่วยงานต่างๆ จำนวน 6 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง ( Purposive Sampling ) รวมจำนวน 268 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ ประกอบด้วย ฉบับที่ 1 แบบประเมินเกี่ยวกับบริบทของโครงการความสอดคล้องระหว่างวัตถุประสงค์ของโครงการกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ นโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นโยบายโรงเรียน ความต้องการและความจำเป็นของโรงเรียน หลักสูตรการจัดการเรียนการสอน จำนวน 10 ข้อ ฉบับที่ 2 แบบประเมินเกี่ยวกับปัจจัยเบื้องต้นด้านความเหมาะสมและพอเพียงเกี่ยวกับวิทยากร งบประมาณ ระยะเวลา สถานที่ วัสดุอุปกรณ์ ความรู้ความสามารถของคณะทำงาน การสนับสนุนของฝ่ายบริหารโรงเรียน ผู้ปกครอง และบุคลากรในชุมชนในเขตบริการของโรงเรียนวัดราษฎร์สโมสร จำนวน 56 ข้อ ฉบับที่ 3 แบบประเมินเกี่ยวกับกระบวนการดำเนินการตามโครงการกับความร่วมมือของคณะทำงานและผู้เกี่ยวข้อง ปฏิทินการปฏิบัติงาน บทบาทหน้าที่ ขั้นตอน จุดเด่น จุดด้อย การนิเทศติดตามผล และสิ่งที่ต้องแก้ไขในการดำเนินงาน จำนวน 40 ข้อ ฉบับที่ 4 แบบประเมินผลผลิตของโครงการที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการมีคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียน ได้แก่ พฤติกรรมของนักเรียนในด้านความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ ความมีเหตุผล ความกตัญญูกตเวที ความมีวินัย ความเสียสละ ความสามัคคี ความประหยัด การพึ่งตนเอง ความขยันหมั่นเพียรและความเมตตากรุณา จำนวน 96 ข้อ ฉบับที่ 5 แบบประเมินความพึงพอใจที่มีต่อโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนโรงเรียนวัดราษฎร์สโมสร จำนวน 15 ข้อ ฉบับที่ 6 แบบประเมินผลกระทบการดำเนินงานของโครงการ 6 ด้าน ได้แก่ ด้านการบริหาร ด้านการจัดสภาพแวดล้อม ด้านการสอนและการนิเทศ ด้านการจัดกิจกรรมนักเรียน ด้านความสัมพันธ์กับชุมชน และด้านการประเมินผล จำนวน 30 ข้อการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยแบบประเมินแบบสอบถาม สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมินโดยสรุปดังนี้
1. ผลการประเมินบริบทของโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนโรงเรียนวัดราษฎร์สโมสร ตามความคิดเห็นของ ผู้บริหาร คณะครูและคณะกรรมการสถานศึกษาของโรงเรียน พบว่า วัตถุประสงค์ของกิจกรรมย่อยทุกกิจกรรมกับนโยบายของกระทรวง นโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นโยบายของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 2 นโยบายโรงเรียน หลักสูตรการจัดการเรียนการสอน ความต้องการและความจำเป็นของโรงเรียน มีความสอดคล้องอยู่ในระดับมาก
2. ผลการประเมินปัจจัยเบื้องต้นด้านความเหมาะสมและพอเพียงเกี่ยวกับวิทยากร งบประมาณ ระยะเวลา สถานที่ วัสดุอุปกรณ์ ความรู้ความสามารถของคณะทำงาน การสนับสนุนของฝ่ายบริหารโรงเรียน ผู้ปกครอง และบุคลากรในชุมชน พบว่า ปัจจัยเบื้องต้นของกิจกรรมการเข้าค่ายอบรมพุทธบุตร ในภาพรวมมีความเหมาะสมและพอเพียงอยู่ในระดับมากทุกรายการ ปัจจัยเบื้องต้นของกิจกรรมการทำความดี ในภาพรวมมีความเหมาะสมและพอเพียงอยู่ในระดับมากทุกรายการ ปัจจัยเบื้องต้นของกิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา ในภาพรวมมีความเหมาะสม และพอเพียงอยู่ในระดับมากทุกรายการ ปัจจัยเบื้องต้นของกิจกรรมการสร้างเสริมคุณธรรมประจำวันศุกร์ ในภาพรวมมีความเหมาะสมและพอเพียงอยู่ในระดับมาก
3. ผลการประเมินกระบวนการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม ตามความคิดเห็นบุคลากรภายในโรงเรียน ได้แก่ ผู้บริหาร คณะครูและคณะกรรมการสถานศึกษา เกี่ยวกับความร่วมมือของคณะกรรมการและผู้เกี่ยวข้อง ปฏิทินการปฏิบัติงาน บทบาทหน้าที่ ขั้นตอน จุดเด่น จุดด้อย การนิเทศติดตามผลและสิ่งที่ต้องแก้ไขในการดำเนินงานของกิจกรรมในแต่ละกิจกรรมย่อย พบว่า กระบวนการดำเนินตามกิจกรรมการเข้าค่ายอบรมพุทธบุตร ในภาพรวมมีระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับปฏิบัติมาก จุดเด่น คือ เป็นกิจกรรมที่นักเรียนให้ความสนใจ วิทยากรสามารถแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ และสามารถสร้างจิตสำนึกให้เกิดแก่นักเรียนได้ในหลาย ๆ ด้าน จุดด้อยของโครงการ พบว่า การไม่ต่อเนื่องในการปฏิบัติกิจกรรมหลังจากจบการเข้าค่ายแล้ว ซึ่งได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข โดยประสานความร่วมมือกับผู้ปกครองในการติดตามการประพฤติปฏิบัติตนต่อที่บ้าน
กระบวนการดำเนินตามกิจกรรมการทำความดี ในภาพรวมมีระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับปฏิบัติมาก
จุดเด่น คือ เป็นกิจกรรมที่สามารถฝึกให้เด็กสามารถคิดวิเคราะห์เปรียบเทียบแยกแยะได้ระหว่างความดีและความชั่วและสามารถปฏิบัติได้จนติดเป็นนิสัย จุดด้อยของโครงการ คือ ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าสิ่งที่นักเรียนได้บันทึกมานั้นเป็นความจริงหรือไม่ ปรับปรุงแก้ไขโดยการหามาตรการในการตรวจสอบโดยการประสานความร่วมมือกับผู้ปกครองในการตรวจสอบหาหลักฐานในการบันทึกความดี
กระบวนการดำเนินงานตามกิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา ในภาพรวมมีระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับปฏิบัติ จุดเด่น คือ นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมด้วยความสมัครใจ เป็นกิจกรรมที่ปลูกฝังให้เกิดจิตสำนึกในการสืบสานประเพณีให้คงอยู่ต่อไป และนักเรียนได้ทำกิจกรรมร่วมกับบุคคลในชุมชนทำให้เกิดความคุ้นเคยกันเป็นอย่าง จุดด้อย คือ การไปร่วมกิจกรรมที่วัดอาจทำให้นักเรียนเสียเวลาเรียน ซึ่งได้ปรับปรุงแก้ไขโดยการนำนักเรียนไปทำกิจกรรมในวันหยุดหรือเสาร์ – อาทิตย์แทน กระบวนการดำเนินตามกิจกรรมการสร้างเสริมคุณธรรมประจำวันศุกร์ ระดับการปฏิบัติในภาพรวมมีการปฏิบัติอยู่ในระดับปฏิบัติมาก จุดเด่น คือ เป็นกิจกรรมที่ฝึกให้นักเรียนได้ฝึกฝนการสวดมนต์ไหว้พระและทำสมาธิได้ในเวลาเดียวกัน และเป็นกิจกรรมที่สามารถพัฒนาจิตใจของนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จุดด้อย คือ สถานที่ทำกิจกรรมเป็นอาคารเรียน เวลาทำสมาธินักเรียนจะร้อนทำให้ไม่ค่อยมีสมาธิเวลาที่ใช้ทำกิจกรรมเป็นเวลาเย็นก่อนกลับบ้านซึ่งก่อนทำกิจกรรมนักเรียนจะเล่นมากเกิดความอ่อนเพลียและเหนื่อยจากการเล่นทำให้นักเรียนเกิดความเบื่อและไม่มีสมาธิ ซึ่งปรับปรุงแก้ไขโดยการปรับเปลี่ยนเวลาทำกิจกรรมเป็นเวลาช่วงเช้าก่อนเข้าห้องเรียนในวันศุกร์และจัดสภาพแวดล้อมของสถานที่ให้เอื้อต่อการทำกิจกรรม ดังนั้นหลังจากมีการปรับเปลี่ยนเวลาในการทำกิจกรรมแล้ว ทำให้นักเรียนมีความพร้อมและตั้งใจในการปฏิบัติกิจกรรมมากขึ้น
4. ผลการประเมินผลผลิตของโครงการเกี่ยวกับพฤติกรรมคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียน ด้านความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ ความมีเหตุผล ความกตัญญูกตเวที ความมีวินัย ความเสียสละ ความสามัคคี ความประหยัด การพึ่งตนเอง ความขยันหมั่นเพียรและความเมตตา พบว่า นักเรียนมีการปฏิบัติเกี่ยวกับพฤติกรรมเชิงคุณธรรมจริยธรรมในภาพรวมอยู่ในระดับมากทุกด้าน และความ พึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียนบุคลากรในโรงเรียนและชุมชนที่มีต่อโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนโรงเรียนวัดราษฎร์สโมสร ในภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก
5. ผลการประเมินผลกระทบการดำเนินงานของโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนโรงเรียนวัดราษฎร์สโมสรที่มีต่อโรงเรียน ผู้บริหาร ครู และนักเรียน ทั้ง 6 ด้านในโรงเรียน คือ ด้านการบริหาร ด้านจัดสภาพแวดล้อม ด้านการสอนและการนิเทศ ด้านการจัดกิจกรรมนักเรียน ด้านความสัมพันธ์กับชุมชนและด้านการประเมินผลทางคุณธรรมจริยธรรมในภาพรวมมีผลกระทบอยู่ในระดับมาก