การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้ทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ 5s
เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร รายวิชาคณิตศาสตร์ 5 (ค23101) กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ผู้วิจัย มาลินี วรรณทอง
ปีที่วิจัย 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีความมุ่งหมายของการวิจัย ดังนี้ 1) เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน โดยใช้ทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ (5S) เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร รายวิชาคณิตศาสตร์5 (ค23101)กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ 2) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้ทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ (5S) เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ และ 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้ทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ (5S) เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
กระบวนการวิจัยมี 4 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นที่ 1 การศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน โดยการศึกษาแนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ขั้นที่ 2 การออกแบบและการพัฒนารูปแบบ ขั้นที่ 3 การนำรูปแบบการเรียนการสอนไปใช้ และขั้นที่ 4 ประเมินผลการใช้รูปแบบการเรียนการสอน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนไพรธรรมคุณวิทยา อำเภอ ขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 27 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย รูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้ทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ (5S) แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบประเมินทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และเปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนโดยการทดสอบค่าที (t-test) แบบ Dependent sample
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้ทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ (5S) เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีองค์ประกอบสำคัญประกอบด้วย หลักการและแนวคิด วัตถุประสงค์ กระบวนการจัดการเรียนรู้ การวัดผลและการประเมินผล กระบวนการจัดการเรียนรู้มี 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 ขั้นสังเกตและเชื่อมโยง ขั้นที่ 2 ขั้นสืบค้นคำตอบ ขั้นที่ 3 ขั้นปฏิบัติและอธิบาย และขั้นที่ 4 ขั้นสรุปผลและนำไปใช้ ผลการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญอยู่ในระดับเหมาะสมมากที่สุด และมีคะแนนประสิทธิภาพ เท่ากับ 81.96/81.22
2. ผลการทดลองใช้รูปแบบ พบว่า นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้ทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ (5S) เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และนักเรียนมีคะแนนทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ ประกอบด้วย การแก้ปัญหา การให้เหตุผล การสื่อสาร และการนำเสนอ การเชื่อมโยง และการคิดสร้างสรรค์ ในระดับดี คิดเป็นร้อยละ 83.41
3. นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้ทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ (5S) เรื่อง พื้นที่ผิวและปริมาตร กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีความพึงพอใจต่อการเรียนในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.59 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.50