รูปแบบการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการ เพื่อส่งเสริมทักษะการสังเกต
และทักษะการสื่อความหมายทางด้านวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย
สถานที่ โรงเรียนเทศบาลศรีสวัสดิ์วิทยา
ปีที่ศึกษา ปีการศึกษา 2561
ผู้ศึกษา นางสาวอรสา ศรีแก้ว
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการ เพื่อส่งเสริมทักษะการสังเกต และทักษะการสื่อความหมายทางด้านวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย
โดยใช้ขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา แบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 การสร้างรูปแบบการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการ โดยศึกษาข้อมูลพื้นฐานจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างและตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบการจัดประสบการณ์ พิจารณาจากผลการตรวจสอบรูปแบบโดยผู้เชี่ยวชาญ
และความพึงพอใจของครูปฐมวัย ขั้นตอนที่ 2 การศึกษาผลการใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์ โดยใช้แบบแผนการวิจัยเชิงทดลองแบบกลุ่มเดียววัดผลหลังการทดลอง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้เป็นเด็กปฐมวัย ชาย – หญิง อายุ 3 – 4 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นอนุบาลปีที่ 1 จำนวน 24 คน ปีการศึกษา 2562 ของโรงเรียนเทศบาลศรีสวัสดิ์วิทยา สังกัดเทศบาลเมืองมหาสารคาม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้มาโดยการสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบกลุ่ม (Cluster Random sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ แบบประเมินผลทักษะการสังเกต และทักษะการสื่อความหมายของเด็กปฐมวัย แบบวัดความพึงพอใจของครูปฐมวัย สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การวิเคราะห์เนื้อหา ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัย พบว่า 1) รูปแบบการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการ มี 6 องค์ประกอบ ได้แก่ ความเป็นมาและความสำคัญ ทฤษฎีและแนวคิดพื้นฐาน หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการจัดประสบการณ์ การประเมินผล ซึ่งมี 3 ขั้น คือ ขั้นนำ ขั้นสอน และขั้นสรุป โดยมีผลการตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการ โดยมีคุณภาพของรูปแบบจากผลการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญอยู่ในระดับมากที่สุด และความพึงพอใจของครูปฐมวัยทีมีต่อรูปแบบการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการ อยู่ในระดับมาก 2) นักเรียนที่ได้รับการจัดประสบการณ์โดยใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการ มีทักษะการสังเกต และทักษะการสื่อความหมายทางด้านวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 80 ดังนี้
1) ผลการประเมินทักษะการสังเกตหลังได้รับการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการ
คิดเป็นร้อยละ 84.58 เปรียบเทียบกับผลการประเมินทักษะการสังเกตหลังได้รับการจัดกิจกรรม
นักวิทยาศาสตร์น้อย พบว่า มีผลการพัฒนาเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 6.12
2) ผลการประเมินทักษะการสื่อความหมายหลังได้รับการจัดประสบการณ์แบบ
บูรณาการ คิดเป็นร้อยละ 82.50 เปรียบเทียบกับผลการประเมินทักษะการสื่อความหมายหลังได้รับการจัดกิจกรรมนักวิทยาศาสตร์น้อย พบว่า มีผลการพัฒนาเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 6.35