การประเมินโครงการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียน
อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก
ชื่อผู้วิจัย นางสาวนงเยาว์ จันทะคุณ
ปีที่วิจัย 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินบริบทของโครงการเกี่ยวกับความสอดคล้องระหว่างวัตถุประสงค์ของโครงการกับ นโยบายของสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นโยบายของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 3 นโยบายของโรงเรียน และความต้องการจำเป็นของโรงเรียน หลักสูตรสถานศึกษา ความเหมาะสมของชุมชน สถานการณ์ของสังคมในปัจจุบัน บทบาทหน้าที่ของโรงเรียนและการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อประเมินประสิทธิภาพของกระบวนการดำเนินงานตามโครงการเกี่ยวกับความร่วมมือของคณะทำงานและผู้เกี่ยวข้อง ปฏิทินการปฏิบัติงาน บทบาทหน้าที่ ขั้นตอน จุดเด่น จุดด้อย การนิเทศติดตามผล และสิ่งที่ต้องแก้ไขในการดำเนินงานเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการเกี่ยวกับพฤติกรรมคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียน ด้านความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ ความมีเหตุผล ความกตัญญูกตเวที ความมีวินัย ความเสียสละ ความสามัคคี ความประหยัด การพึ่งตนเอง ความขยันหมั่นเพียร และความเมตตา เพื่อประเมินความพึงพอใจที่มีต่อโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียน และเพื่อประเมินผลกระทบของโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมที่มีต่อโรงเรียน ผู้บริหาร คณะครูและนักเรียน ประชากรได้แก่ผู้บริหาร หัวหน้ากลุ่มสาระ ครูที่รับผิดชอบกิจกรรม คณะกรรมการติดตามและประเมินผลแต่ละกิจกรรม นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียน โรงเรียนบ้านนาเปอะ บุคลากรในชุมชนในเขตบริการของโรงเรียนบ้านนาเปอะ จำนวน 45 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วยแบบประเมินมีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) จำนวน 6 ฉบับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย ( μ ) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ( σ ) ค่าความเชื่อมั่น (α)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการประเมินบริบทของโครงการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนโรงเรียน
บ้านนาเปอะตามบริบทของโครงการความสอดคล้องระหว่างวัตถุประสงค์ของโครงการกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ นโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นโยบายโรงเรียน ความต้องการและความจำเป็นของโรงเรียน หลักสูตรการจัดการเรียนการสอน ความเหมาะสมของชุมชน สถานการณ์ของสังคมในปัจจุบัน บทบาทหน้าที่ของโรงเรียนและการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ภาพรวมระดับความสอดคล้อง อยู่ในระดับมากที่สุด
2. ผลการประเมินปัจจัยเบื้องต้นของโครงการเกี่ยวกับความเหมาะสมเพียงพอของโครงการใน
7 กิจกรรม เกี่ยวกับบุคลากร งบประมาณ ระยะเวลา สถานที่ วัสดุอุปกรณ์ ความรู้ความสามารถของคณะทำงาน การสนับสนุนของฝ่ายบริหารโรงเรียน ผู้ปกครอง และบุคลากรในชุมชนแต่ละกิจกรรมย่อยพบว่า ความเหมาะสม/พอเพียง อยู่ในระดับมากทุกกิจกรรม
3. ผลการประเมินกระบวนการดำเนินงานตามโครงการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ตามความคิดเห็นบุคลากรภายในโรงเรียน ได้แก่ ผู้บริหาร หัวหน้ากลุ่มสาระ ครูผู้รับผิดชอบแต่ละกิจกรรม และคณะกรรมการสถานศึกษา เกี่ยวกับความร่วมมือของคณะทำงานและผู้เกี่ยวข้อง ปฏิทินการปฏิบัติงาน บทบาทหน้าที่ ขั้นตอน จุดเด่น จุดด้อย การนิเทศติดตามผลและสิ่งที่ต้องแก้ไขในการดำเนินงานของกิจกรรมในแต่ละกิจกรรมย่อย พบว่า
อยู่ในระดับมากทุกกิจกรรม
4. ผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการ
4.1 พฤติกรรมคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียน ด้านความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ ความมีเหตุผล ความกตัญญูกตเวที ความมีวินัย ความเสียสละ ความสามัคคี ความประหยัด การพึ่งตนเอง ความขยันหมั่นเพียรและความเมตตา พบว่าอยู่ในระดับมากทุกกิจกรรม
4.2 ความพึงพอใจที่มีต่อโครงการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียน พบว่าอยู่ในระดับมาก
4.3 ผลกระทบของโครงการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนที่มีต่อโรงเรียน ผู้บริหาร คณะครู และนักเรียนโรงเรียนบ้านนาเปอะ พบว่าอยู่ในระดับมาก