ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ประจำปี 2563 รร.นิคมฯ 3 สพป.รย.1
สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
รางวัลที่ได้รับ ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ประจำปี ๒๕๖๓
ประเภทสถานศึกษาประถมศึกษาขนาดใหญ่ ระดับยอดเยี่ยม
จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
โรงเรียนนิคมสร้างตนเองจังหวัดระยอง ๓ ตั้งอยู่ที่ ๑๘๗/๑ หมู่ที่ ๑ ตำบลมะขามคู่ อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง ๒๑๑๘๐ โทรศัพท์ ๐๓๘-๐๓๘๐๔๙ เปิดสอนระดับชั้นอนุบาลปีที่ ๒ ถึงมัธยมศึกษาศึกษาปีที่ ๓ จำนวนนักเรียน ๖๘๔ คน จำนวนครูและบุคลากรทางการศึกษา ๔๑ คน บริหารงานโดย ดร. เภารัมย์ภา อาสา โทรศัพท์มือถือ ๐๘๐-๙๘๙-๓๕๙๑
โรงเรียนนิคมสร้างตนเองจังหวัดระยอง ๓ เป็นโรงเรียนขยายโอกาสขนาดใหญ่ ชุมชนโดยรอบมีความเสี่ยงในเรื่องของยาเสพติด ในปีการศึกษา ๒๕๖๐ นักเรียนมีผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ต่ำ เป็นอันดับที่ ๓๑ หรืออันดับสุดท้ายของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต ๑ จากสภาพปัญหาดังกล่าว โรงเรียนได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน จึงได้ทำการวิเคราะห์นโยบาย กฎหมายที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์สภาพแวดล้อม (SWOT) และได้กำหนดวิสัยทัศน์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนว่า “ภายในปีการศึกษา ๒๕๖๕ นักเรียนโรงเรียนนิคมสร้างตนเองจังหวัดระยอง ๓ มีความเป็นเลิศทางวิชาการ ก้าวทันเทคโนโลยี มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ โดยการจัด ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่มีประสิทธิภาพ” โรงเรียนได้จัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา แผนปฏิบัติการประจำปีที่ระบุถึงโครงการพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน มีการแต่งตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย ทีมนำ ทีมประสาน ทีมทำ และได้จัดทำคู่มือการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน การเสริมสร้างทักษะชีวิต และการคุ้มครองนักเรียนอย่างปลอดภัย
ในการดำเนินงานโรงเรียนใช้รูปแบบการบริหารจัดการ AAAR Model ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ขั้นตอนที่ ๑ Analysis เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลนักเรียนรายบุคคล จากกิจกรรมโฮมรูม การเยี่ยมบ้านนักเรียน และคัดกรองนักเรียน
ขั้นตอนที่ ๒ Active Learning เป็นการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติ ประกอบด้วย กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนานักเรียนและกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหาของนักเรียน ได้แก่ การจัดการเรียนรู้แบบ STEM Coding การเรียนรู้ผ่านฐานการเรียนรู้ จำนวน ๑๔ ฐาน
ขั้นตอนที่ ๓ Assessment เป็นการวัดและประเมินผล ประกอบด้วย การนิเทศ ติดตามการดำเนินงาน การรวบรวมสารสนเทศจากผลการดำเนินงาน
ขั้นตอนที่ ๔ Reflection การสะท้อนผล เป็นการทำกิจกรรมชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) ของคณะครู เพื่อนำผลการดำเนินงาน ปัญหาและอุปสรรคมาปรับปรุงวิธีการดำเนินงาน
โรงเรียนได้ดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนและความปลอดภัย ดังนี้
ขั้นตอนที่ ๑ การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล จากกิจกรรมโฮมรูมและการเยี่ยมบ้าน
ขั้นตอนที่ ๒ การคัดกรองนักเรียน ได้จำแนกนักเรียนออกเป็น ๔ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพิเศษ กลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มมีปัญหา โดยมีการคัดกรองนักเรียนทุกคน ๗ ด้าน ประกอบด้วย ด้านการเรียน ด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว ด้านสุขภาพ ด้านอารมณ์และพฤติกรรม ด้านเศรษฐกิจ ด้านสภาพแวดล้อมในชุมชน และด้านการติดเกมและสื่อออนไลน์
ขั้นตอนที่ ๓ การส่งเสริม พัฒนานักเรียน จำแนกรายด้าน ดังนี้
๑) ด้านการเรียน จัดทำโครงการพัฒนาทักษะการอ่าน การเขียนภาษาไทย ทักษะการคิดคำนวณ ทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และการคิดแก้ปัญหา ส่งเสริมการใช้สื่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา และได้บูรณาการทักษะชีวิตและการคุ้มครองนักเรียนในการเรียนการสอนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยจัดทำแผนบูรณาการการใช้ฐานการเรียนรู้จำนวน ๑๔ ฐาน ได้แก่ ฐาน ๑) นิคม ๓ คีตา ๒) สื่อสารภาษาอังกฤษ ๓) ฝึกคิดคณิตศาสตร์ ๔) เริงลีลานาฏศิลป์ ๕) ศีลธรรมงามนัก ๖) คลินิกรักษ์ภาษา ๗) วิทยาศาสตร์น่ารู้ ๘) เทิดทูนบูรพกษัตริย์ไทย ๙) สร้างนิสัยรักการอ่าน ๑๐) สนุกสนานลานกีฬา ๑๑) จิตอาสาสภานักเรียน ๑๒) เรียนรู้เทคโนโลยี ๑๓) วิถีเกษตรกรรม ๑๔) ฝึกทักษะการทำงาน
๒) ด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว มีกิจกรรมสานสัมพันธ์ผู้ปกครอง มีไลน์กลุ่มระหว่างครูกับผู้ปกครองทุกชั้น
๓) ด้านสุขภาพ มีการอบรมส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตของนักเรียน และมีชุมนุมกีฬา
๔) ด้านอารมณ์และพฤติกรรม มีกิจกรรมค่ายคุณธรรมจริยธรรมและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ จิตอาสา และกิจกรรมลูกเสือ - เนตรนารี
๕) ด้านเศรษฐกิจ มีการรับมอบทุนการศึกษาและอุปกรณ์การเรียนจากหน่วยงานต่าง ๆ
๖) ด้านสภาพแวดล้อมในชุมชน ครูตำรวจ D.A.R.E. ได้เข้ามาจัดกิจกรรมโครงการต่อต้านยาเสพติดในเด็กนักเรียน
๗) ด้านการติดเกมและสื่อออนไลน์ มีการอบรมนักเรียนเกี่ยวกับการเล่นเกม การรู้เท่าทันสื่อเทคโนโลยี
ขั้นตอนที่ ๔ การป้องกันและแก้ไขปัญหา มีการประชุมผู้ปกครอง จัดกิจกรรมแนะแนว การทำ PLC เพื่อแก้ไขปัญหาทางการเรียนรู้และพฤติกรรมของนักเรียน
ขั้นตอนที่ ๕ การส่งต่อนักเรียน มีการส่งต่อภายในจากครูประจำชั้นไปยังหัวหน้ากิจการนักเรียน และการส่งต่อภายนอก สำหรับนักเรียนที่เจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุไปโรงพยาบาล และนักเรียนที่มีปัญหาด้านความสัมพันธ์ในครอบครัวและด้านเศรษฐกิจไปยังสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดระยองให้ความช่วยเหลือ
โรงเรียนมีภาคีเครือข่าย โดยได้ทำ MOU กับสถานีตำรวจภูธรนิคมพัฒนา เทศบาลตำบลมะขามคู่ และกลุ่มโรงเรียนการศึกษาภาคบังคับ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต ๑ มีการประชุมเครือข่าย ตั้งกลุ่มไลน์ผู้ปกครองเครือข่าย กลุ่มไลน์เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้ข้อมูลในการสนับสนุนความปลอดภัยในโรงเรียน ร่วมชื่นชม ให้ขวัญกำลังใจในการดำเนินงาน
โรงเรียนพัฒนาครูทุกคนให้มีความรู้ ความเข้าใจระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนรวมไปถึงการเสริมสร้างทักษะชีวิตและการคุ้มครองนักเรียนด้วยวิธีการที่หลากหลาย โดยผ่านกิจกรรม PLC การศึกษาดูงาน การอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาระบบสารสนเทศนักเรียน (Google Classroom และ Google from) ทำให้ครูทุกคน สามารถจัดกิจกรรมเสริมสร้างทักษะชีวิต และกิจกรรมคุ้มครองนักเรียน มีการนิเทศ ติดตามการดำเนินงานทั้งภายในและภายนอกโรงเรียนโดยใช้กระบวนการนิเทศแบบ PIDRE ประกอบด้วย ขั้นที่ ๑ P (Planning) การวางแผนการนิเทศ ขั้นที่ ๒ I (Informing) การให้ความรู้ความเข้าใจในการทำงาน ขั้นที่ ๓ D (Doing) การลงมือปฏิบัติงาน ขั้นที่ ๔ R (Reinforcing) การสร้างเสริมกำลังใจ และขั้นที่ ๕ E (Evaluating) การประเมินการนิเทศ
ความสำเร็จของการดำเนินงาน ด้านความพึงพอใจจากระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียนทุกคน คือ นักเรียนได้รับการยอมรับการชื่นชมจากผลการแข่งขันงานมหกรรมความสามารถทางศิลปหัตถกรรม วิชาการ และเทคโนโลยีของนักเรียน ระดับชาติ ทั้งด้านกีฬา และด้านศิลปะ ได้แก่ เหรียญเงิน กิจกรรมการแข่งขันคีตะมวยไทย เหรียญทองแดง กิจกรรมการประกวดโครงงานคอมพิวเตอร์ประเภทซอฟต์แวร์ เหรียญทอง กิจกรรมการแข่งขันวาดภาพระบายสี ประเภทนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกาย และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ กีฬาเซปักตะกร้อหญิง รุ่นอายุไม่เกิน ๑๒ ปี การแข่งขันกีฬานักเรียนขั้นพื้นฐาน “สพฐ.เกมส์” ระดับภูมิภาค ภาคตะวันออก ปีการศึกษา ๒๕๖๑
ความสำเร็จของการดำเนินงานด้านความพึงพอใจจากการเสริมสร้างทักษะชีวิต ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียนทุกคน คือ โรงเรียนได้รับการยอมรับจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถม ศึกษาระยอง เขต ๑ ในการพัฒนานักเรียน โดยได้รับรางวัล “การสร้างคนดี คนเก่งบนพื้นฐานความเป็นไทย” ระดับดีเยี่ยม ได้รับการชื่นชมจากคณะกรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครองนักเรียน เกี่ยวกับผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชั้นขั้นพื้นฐาน (O-NET) ที่มีคะแนนเพิ่มขึ้น ๓ ปีต่อเนื่อง
ความสำเร็จของการดำเนินงานด้านความพึงพอใจต่อการที่นักเรียนทุกคนสามารถดูแลตนเองได้ คือ ได้รับการยอมรับและชื่นชมจากสถานีตำรวจภูธรนิคมพัฒนา ในการที่นักเรียนมีระเบียบวินัย ปฏิบัติตามกฎจราจร มีทักษะชีวิตที่ดี สามารถดูแลตนเองและครอบครัวได้ โดยมีการทำกิจกรรม ขอพ่อแม่เลิกเหล้าและมีการมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้ปกครองที่ปลอดอบายมุข
จากความร่วมมือร่วมใจของบุคลากรทุกคนและภาคีเครือข่ายทำให้โรงเรียนได้รับรางวัลที่ภาคภูมิใจ คือ โล่รางวัล ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ประจำปี ๒๕๖๓ ประเภทสถานศึกษาประถมศึกษาขนาดใหญ่ ระดับยอดเยี่ยม จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน