การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน
เพื่อพัฒนาทักษะงานกลึง วิชางานฝึกฝีมือ (20100-1003) ของนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ
ชั้นปีที่ 1
ผู้วิจัย นายวัชรพล นกดารา
ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานและความต้องการในการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานและการจัดการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน 2) เพื่อพัฒนาและตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานและการจัดการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานและการจัดการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน และ 4) เพื่อประเมินผลและปรับปรุงรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานและการจัดการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ครูผู้สอนกลุ่มทักษะวิชาชีพพื้นฐาน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดทำนวัตกรรมทางการศึกษา จำนวน 10 คน นักเรียนระดับชั้น ปวช.1 วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทศบาลนครปฐม ปีการศึกษา 2561 จำนวน 30 คน และปีการศึกษา 2562 จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถาม และแบบวิเคราะห์เอกสาร 2) เครื่องมือในการประเมินผลรูปแบบ ได้แก่ แบบประเมินทักษะปฏิบัติของนักเรียน แบบประเมินความสามารถในการสร้างนวัตกรรมของนักเรียน แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน และแบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบที และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ความคิดเห็นด้านเนื้อหาสาระที่เหมาะสมเกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานและการจัดการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน โดยภาพรวม พบว่า เนื้อหาสาระที่เหมาะสมเกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานและการจัดการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน ควรเป็นเนื้อหาตามหลักวิชาการที่สอดคล้องกับหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พ.ศ. 2556 เนื้อหาสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันให้เกิดประโยชน์ได้ เน้นการส่งเสริมทักษะปฏิบัติด้วยวิธีการสอนแบบโครงงานเป็นฐานและเพื่อนช่วยเพื่อน ควรเน้นเฉพาะไปที่หน่วยการสอนที่เกี่ยวกับงานกลึงนั้น ประเมินผลโดยการสังเกตพฤติกรรม ครูผู้สอนควรดูแล ให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาอย่างใกล้ชิด และขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของนักเรียนเป็นสำคัญ นักเรียนเคยผ่านการเรียนแบบโครงงานมาแล้วทุกคน เป็นโครงงานเชิงสืบค้นข้อมูลและรายงาน แต่ยังไม่เคยเรียนแบบเพื่อนช่วยเพื่อนส่วนใหญ่ต้องการให้เน้นเรื่องการใช้เครื่องมือและการฝึกปฏิบัติเพื่อให้เกิดทักษะการทำงานโดยใช้เครื่องมือกล โดยให้เนื้อหาแต่ละเรื่องมีเนื้อหาที่มีความละเอียดพอสมควร และมีใบงานเพื่อฝึกปฏิบัติงานโดยใช้เครื่องมือช่างได้อย่างถูกต้อง และคล่องแคล่ว ควรจัดการเรียนเป็นกลุ่ม และเห็นด้วยกับรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบนี้ และคิดว่าคงจะสามารถส่งเสริมให้เกิดความรู้ความเข้าใจและทักษะปฏิบัติได้จริง
2. ผลการพัฒนาและตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานและการจัดการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน พบว่า องค์ประกอบหลักของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ ได้แก่ 1) องค์ประกอบเชิงโครงสร้าง คือ หลักการ และวัตถุประสงค์ 2) องค์ประกอบเชิงกระบวนการ คือ (1) กระบวนการจัดการเรียนรู้ 6 ขั้น (PPPEPE Model) ได้แก่ ขั้นที่ 1 ขั้นเตรียมความพร้อม (Prepare) ขั้นที่ 2 ขั้นกำหนดจุดมุ่งหมาย (Purposing) ขั้นที่ 3 ขั้นวางแผน (Planning) ขั้นที่ 4 ขั้นปฏิบัติตามแผน (Executing) ขั้นที่ 5 ขั้นนำเสนอ (Presentation) และขั้นที่ 6 ขั้นประเมินผล (Evaluation) (2) การวัดและประเมินผล และ 3) เงื่อนไขสำคัญในการนำรูปแบบการจัดการเรียนรู้ไปใช้ให้ประสบผลสำเร็จ รูปแบบมีค่าความสอดคล้องเชิงโครงสร้างและกระบวนการด้านความสมเหตุสมผลเชิงทฤษฎี ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ความเป็นไปได้ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และมีค่าความเหมาะสมและสอดคล้องของรูปแบบในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานและการจัดการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน พบว่า คะแนนทักษะปฏิบัติของนักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ได้มากกว่า ร้อยละ 80 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 นักเรียนมีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมอยู่ในระดับสูง และความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้ ในภาพรวมอยู่ในระดับพึงพอใจมากที่สุด
4. การประเมินผลและปรับปรุง พบว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานและการจัดการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน มีประสิทธิภาพเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด และนักเรียนร้อยละ 93.33 เห็นด้วยกับรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานและการจัดการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อน