การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดฯ
แก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
ผู้วิจัย นางอรญา พรมแดน
พ.ศ. 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน 2) เพื่อออกแบบและพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน 3) เพื่อศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนการสอน ได้แก่ 3.1) เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณของผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ก่อนและหลังการใช้รูปแบบการเรียนการสอน 3.2) เพื่อศึกษาพัฒนาการของความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณของผู้เรียนที่เรียนโดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนในช่วงเวลาระหว่างเรียน 3.3) ศึกษาความพึงพอใจของผู้เรียนที่มีต่อการใช้รูปแบบการเรียนการสอน และ 4) เพื่อประเมินและปรับปรุงรูปแบบการเรียนการสอน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนเทศบาล ๒ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางxxxร) สังกัดเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยในการสุ่ม (Sampling Unit) จำนวน 1 ห้องเรียน จำนวนผู้เรียน 37 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) รูปแบบการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 2) เครื่องมือประกอบการใช้รูปแบบ การเรียนการสอนคณิตศาสตร์ ประกอบด้วย คู่มือการใช้รูปแบบการเรียนการสอน แผนการจัด การเรียนรู้ และชุดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับผู้เรียน และ 3) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนการสอน จำนวน 2 ฉบับ ประกอบด้วย แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ และแบบสอบถามความพึงพอใจของผู้เรียนที่มีต่อการใช้รูปแบบการเรียนการสอน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีการหาค่าเฉลี่ย (X) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และทดสอบสมมติฐานโดยใช้ t-test dependent
ผลการวิจัย พบว่า
1. ข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน
1.1 ข้อมูลพื้นฐานเชิงนโยบายการจัดการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้น
พื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง 2560) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้เรียนทางด้านการคิด โดยกำหนดไว้เป็นสมรรถนะที่สำคัญของผู้เรียน 5 ประการ ตลอดจนมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข นอกจากนี้ยังพบว่าผลสัมฤทธิ์วิชาคณิตศาสตร์ของผู้เรียนต่ำทั้งจากการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาระดับนานาชาติ การประเมินคุณภาพการศึกษาในระดับชาติ และการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง
1.2 ผลการวิเคราะห์ผู้เรียนโดยการสัมภาษณ์ผู้เรียน โดยสรุปผู้เรียนคุ้นเคยกับการ
ฟังบรรยายโดยส่วนใหญ่จะไม่กล้าซักถาม ไม่มีส่วนร่วมในการอภิปรายถามตอบ ผู้เรียนที่ตั้งใจเรียนจะมีพฤติกรรมในการตั้งใจฟังจดบันทึกไม่คุยและมีผู้เรียนจำนวนไม่น้อยที่ขาดสมาธิในการเรียนถึงแม้จะไม่คุย แต่ไม่มีสมาธิจดจ่ออยู่กับการเรียน ซึ่งวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียนในลักษณะนี้ทำให้ผู้เรียนขาดโอกาสในการฝึกทักษะกระบวนการคิด การเชื่อมโยงความรู้ความคิด รวมทั้งจากการสัมภาษณ์ครูผู้สอนพบว่าผู้เรียนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับการฟังบรรยาย ไม่กล้าซักถาม ผู้เรียนขาดการตระหนักรู้ในคุณค่าของกระบวนการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ
2. การออกแบบและพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน
2.1 องค์ประกอบของรูปแบบการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิด
แก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ 1) องค์ประกอบเชิงหลักการและวัตถุประสงค์ 2) องค์ประกอบเชิงกระบวนการ และ 3) องค์ประกอบเชิงเงื่อนไขการนำรูปแบบไปใช้กระบวนการเรียนการสอน
2.2 ผลการหาประสิทธิภาพ (E1/ E2) โดยการทดลองแบบกลุ่มใหญ่ (Field Try
out) ปรากฏว่ามีประสิทธิภาพของกระบวนการและประสิทธิภาพของผลลัพธ์ (E1/ E2) เท่ากับ 86.07/86.13
3. ประสิทธิผลของการใช้รูปแบบการเรียนการสอน
3.1 หลังการเรียนการสอนโดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริม
ความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ. 01
3.2 ความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ พัฒนาขึ้นในช่วงเวลา
ระหว่างเรียนจากระดับสูงเป็นระดับสูงมากโดยที่ระยะที่ 1 อยู่ในระดับสูง ระยะที่ 2 ระยะที่ 3 ระยะ ที่ 4 และระยะที่ 5 อยู่ในระดับสูงมาก
3.3 ความพึงพอใจของผู้เรียนที่มีต่อการใช้รูปแบบการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริม
ความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก
คำสำคัญ: รูปแบบการเรียนการสอน ความสามารถในการคิดแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ