รายงานผลการใช้กลยุทธ์ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาฯ
ชื่อเรื่อง รายงานผลการใช้กลยุทธ์ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนกุญชรศิรวิทย์ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ
ผู้วิจัย นางคุณากร บุญสาลี
ปีที่ทำวิจัย 2561 - 2562
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัจจุบัน จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรคในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนกุญชรศิรวิทย์ 2) สร้างกลยุทธ์ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนกุญชรศิรวิทย์ และ 3) เพื่อประเมินผลการทดลองใช้กลยุทธ์ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนกุญชรศิรวิทย์ โดยใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนา ซึ่งแบ่งการดำเนินการวิจัยเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษา สภาพปัจจุบัน จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรคในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนกุญชรศิรวิทย์ กลุ่มผู้ให้ข้อมูลในขั้นตอนนี้ ได้แก่ ผู้วิจัย คณะครู และบุคลากรทางการศึกษา โรงเรียนกุญชรศิรวิทย์ จำนวน 15 คน และศึกษานิเทศก์ จำนวน 2 คน รวมทั้งสิ้น 17 คน ขั้นตอนที่ 2 การสร้างกลยุทธ์ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนกุญชรศิรวิทย์ กลุ่มผู้ให้ข้อมูลในขั้นตอนนี้ได้แก่ ผู้วิจัย ครูและบุคลากรทางการศึกษา โรงเรียนกุญชรศิรวิทย์ จำนวน 15 คน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนกุญชรศิรวิทย์ จำนวน 9 คน ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา รวมทั้งสิ้น 15 ท่าน และ ขั้นตอนที่ 3 การประเมินผลการทดลองใช้กลยุทธ์ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนกุญชรศิรวิทย์ กลุ่มผู้ให้ข้อมูลในขั้นตอนนี้ ประกอบด้วย คณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบและประเมินคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาประจำภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 5 คน ครูโรงเรียนกุญชรศิรวิทย์ 15 คน คณะกรรมการสถานศึกษา ขั้นพื้นฐานโรงเรียนกุญชรศิรวิทย์ จำนวน 9 คน และผู้ปกครองนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 ที่เข้าร่วมประชุมผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 201 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มอย่างง่าย และมีความยินดี เต็มใจในการให้ข้อมูลในการวิจัย
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบวิเคราะห์เอกสาร แบบบันทึกการจัดการสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) แบบประเมินความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของกลยุทธ์ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาแบบประเมินคุณภาพการศึกษา มีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ แบบบันทึกผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1– 6 แบบสอบถามความพึงพอใจ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1. สภาพปัจจุบัน จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรคในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ในโรงเรียนกุญชรศิรวิทย์ พบว่า ในปีการศึกษา 2561 มีจำนวนนักเรียน จำนวน 201 คน ผลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 3 จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) อยู่ในระดับต่ำกว่าดีมาก จุดแข็ง/โอกาสที่ทำให้มีคุณภาพ โรงเรียนมีการดำเนินกิจกรรมเพื่อพัฒนาผู้เรียนอย่างหลากหลาย มีการจัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่เป็นรูปธรรม ชุมชนมีความเข้มแข็งและมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาอย่างต่อเนื่อง จุดอ่อนที่ควรพัฒนา/อุปสรรคที่ทำให้ไม่มีคุณภาพควรพัฒนาผลสัมฤทธิ์ระดับโรงเรียนและระดับชาติให้สูงขึ้น ควรมีการประสานงานกับปราชญ์ ผู้รู้ เพื่อนำภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามาใช้ในการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาอย่างหลากหลาย ควรมีโครงการกิจกรรมพิเศษเด่นชัดตอบสนองนโยบาย จุดเน้นตามแนวทางปฏิรูปการศึกษา ควรส่งเสริมการมีส่วนร่วมของครู ผู้เรียน ผู้ปกครอง และผู้เกี่ยวข้องต่อการดำเนินงานตามโครงการกิจกรรมพิเศษ
2. ผลการสร้างกลยุทธ์ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนกุญชรศิรวิทย์ พบว่า ประกอบด้วยกลยุทธ์หลัก 4 กลยุทธ์ ได้แก่ กลยุทธ์ที่ 1 สร้างความเสมอภาคและเพิ่มโอกาสให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาภาคบังคับ ประกอบด้วย กลยุทธ์รอง 2 กลยุทธ์ กลยุทธ์ที่ 2 การปฏิรูประบบการบริหาร หลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญและบุคลากรทางการศึกษาประกอบด้วย กลยุทธ์รอง 12 กลยุทธ์ กลยุทธ์ที่ 3 สร้างสภาพแวดล้อม แหล่งเรียนรู้ วิจัย และนวัตกรรมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ประกอบด้วยกลยุทธ์รอง 3 กลยุทธ์ คือ และกลยุทธ์ที่ 4 จัดคาราวานเสริมสร้างเด็กให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตประกอบด้วยกลยุทธ์รอง 2 กลยุทธ์ ซึ่งจากการประเมินกลยุทธ์หลักและกลยุทธ์รองพบว่า มีความเหมาะสมและความเป็นไปได้โดยรวมอยู่ในระดับมาก
3. ผลประเมินผลการทดลองใช้กลยุทธ์ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนกุญชรศิรวิทย์ พบว่า ผลการวิเคราะห์การประเมินคุณภาพการศึกษาโรงเรียนกุญชรศิรวิทย์ ปีการศึกษา 2561 มีค่าเฉลี่ย 84.47 อยู่ในระดับดี ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 โดยรวมปีการศึกษา 2561 มีค่าเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 69.03 ซึ่งมีพัฒนาการสูงขึ้นคิดเป็นร้อยละ 2.31 และผลการวิเคราะห์ความพึงพอใจที่มีต่อของกลุ่มผู้ให้ข้อมูลที่มีต่อกลยุทธ์ที่สร้างขึ้น พบว่า โดยภาพรวมทุกกลุ่มมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก