การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาไทย แบบ TUTAR Model
เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการอ่านจับใจความสำคัญ
ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
ชื่อผู้วิจัย : นายจตุพล สายงาม
หน่วยงาน : โรงเรียนเทศบาล 2 หนองบัว สังกัดเทศบาลนครอุบลราชธานี
ปีที่ทำการวิจัย : พ.ศ. 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการด้านการอ่านจับใจความสำคัญของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาไทย แบบ TUTAR Model เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการอ่านจับใจความสำคัญ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 3) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาไทย แบบ TUTAR Model เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการอ่านจับใจความสำคัญ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาไทย แบบ TUTAR Model เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการอ่านจับใจความสำคัญ มีการดำเนินการวิจัย 4 ระยะ คือ ระยะ 1 ขั้นวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับสร้างและพัฒนารูปแบบจัดการเรียนรู้ ระยะที่ 2 ขั้นพัฒนา เป็นการออกแบบและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ ระยะที่ 3 ขั้นวิจัย เป็นการนำรูปแบบไปทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง และ ระยะที่ 4 การพัฒนาโดยเป็นการประเมินและปรับปรุงแก้ไขรูปแบบการจัดการเรียนรู้ให้สมบูรณ์ การวิจัยครั้งนี้ได้นำรูปแบบฯ ไปทดลองใช้กับนักเรียนชั้น ม.1/1 โรงเรียนเทศบาล 2 หนองบัว สังกัดเทศบาลนครอุบลราชธานี จำนวน 37 คน ที่กำลังเรียนภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 ด้วยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือวิจัย คือ แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์สภาพการจัดการเรียนรู้รายวิชาภาษาไทย รูปแบบการจัดการเรียนรู้ ซึ่งประกอบด้วย คู่มือการใช้รูปแบบและแผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดความสามารถด้านการอ่านจับใจความสำคัญ และแบบสอบถามความพึงพอใจ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ความถี่ (Frequency) ร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และการทดสอบค่าที (Dependent Samples t-test)
ผลการวิจัยพบว่า
1) สภาพปัญหาและความต้องการในการจัดการเรียนรู้ด้านการอ่านจับใจความสำคัญ พบว่า นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านการอ่านต่ำมีสาเหตุมาจากหลายประการ ปัญหาเกี่ยวกับตัวครู คือ ครูผู้สอนไม่เปลี่ยนแปลงวิธีการสอน ไม่ใช้สื่ออุปกรณ์ในการจัดการเรียนการสอน ใช้วิธีสอนแบบบรรยาย นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมน้อยมาก ยึดหลักสูตรมากเกินไป พยายามเร่งสอนให้จบตามหลักสูตร ครูมีชั่วโมงสอนมากหรือสอนหลายวิชาทำให้มีเวลาในการเตรียมการสอนน้อย จึงทำให้การสอนไม่ได้ผล ส่วนปัญหาเกี่ยวกับตัวนักเรียน นักเรียนสนใจวิชาภาษาไทยน้อย ไม่เห็นความสำคัญ เพราะคิดว่าเป็นภาษาแม่ของประเทศตนเอง พื้นฐานความรู้ของนักเรียนไม่เท่ากัน ความสนใจและความสามารถในการรับรู้จึงต่างกัน นักเรียนยังอ่านและเขียนไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งที่ต้องแก้ไข ปัญหาด้านสื่อการเรียนการสอน ขาดสื่อการเรียนการสอนและแบบทดสอบที่ได้มาตรฐาน และเอกสารประกอบการสอนไม่น่าสนใจ ทำให้นักเรียนขาดความสนใจ แผนการจัดการเรียนรู้ที่ครูใช้ดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอน ขาดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้ฝึกทักษะทางภาษาอย่างครบถ้วนและไม่ได้ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้อย่างแท้จริง สื่อและอุปกรณ์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ไม่หลากหลาย ไม่ช่วยให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติทักษะต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน และที่สำคัญคือ รูปแบบการจัดการเรียนรู้ส่วนใหญ่ครูจะเป็นผู้อธิบายให้ความรู้ในเนื้อหาหรือให้นักเรียนศึกษาจากใบความรู้ ใบงาน หนังสือเรียน ครูและนักเรียนมีความต้องการให้การเรียนรู้เป็นลักษณะที่หลากหลาย เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนคนอื่นๆ ในชั้นเรียนผ่านกิจกรรมการอ่านและคิดวิเคราะห์จับใจความสำคัญที่เป็นกระบวนการขั้นตอนอย่างเหมาะสม ครูควรมีเทคนิคและรูปแบบวิธีการการสอนที่หลากหลายมาใช้ออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้และกิจกรรมการเรียนรู้ และมีการบูรณาการสภาพการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ผู้เรียนมีอิสระในการเรียน มีอิสระในการคิด และทำกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยตนเอง นักเรียนสามารถค้นคว้าสืบเสาะหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ได้เอง โดยครูช่วยกระตุ้นให้เกิดการคิดอย่างเป็นขั้นตอน มีการเชื่อมโยงความรู้ด้านต่างๆ และมีการร่วมกันแลกเปลี่ยนในกลุ่มผู้เรียน รวมทั้งมีการนำเสนอผลงานจากการสรุปความรูปในรูปแบบ Concept Mapping หรือรูปแบบอื่นๆ ที่หลากหลาย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาความสามารถด้านการอ่านจับใจความสำคัญภาษาไทย และจะเป็นวิธีการที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดเจตคติที่ดีต่อการเรียนภาษาไทย
2) รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นเป็นการผสมผสานการจัดการเรียนรู้แบบปฏิบัติการ (Active Learning) ทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง (Constructionism) และทฤษฎีการถ่ายโยงการเรียนรู้ (Transfer of Learning Theory) โดยมีองค์ประกอบของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ ได้แก่ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการจัดการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล และเงื่อนไขการนำรูปแบบไปใช้ เรียกว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาไทย แบบ TUTAR Model เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการอ่านจับใจความสำคัญ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยแบ่งการดำเนินการในกระบวนการจัดการเรียนรู้เป็น 5 ขั้น ประกอบด้วย ขั้นที่ 1 T : Triggering ขั้นกระตุ้นและเร้าความสนใจใฝ่เรียนรู้ ขั้นที่ 2 U : Understanding ขั้นศึกษาทำความเข้าใจเนื้อหาบทเรียน ขั้นที่ 3 T : Transferring ขั้นถ่ายโยงความรู้สู่การออกแบบใหม่ๆ ขั้นที่ 4 A : Assessment ขั้นประเมินผลงานผ่านวิธีการที่หลากหลาย และขั้นที่ 5 R : Reflection ขั้นสรุปและสะท้อนความรู้เพื่อประยุกต์ใช้ โดยรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาไทย แบบ TUTAR Model เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านการอ่านจับใจความสำคัญ ที่พัฒนาขึ้นมีการบูรณาการสภาพการจัดการเรียนรู้ ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ผู้เรียนมีอิสระในการเรียน มีอิสระในการคิดและทำกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยตนเอง สามารถค้นคว้าสืบเสาะหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ได้เอง โดยครูช่วยกระตุ้นให้เกิดการคิดอย่างเป็นขั้นตอน เป็นรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่มีส่วนกระตุ้นให้ผู้เรียนบรรลุตามที่วัตถุประสงค์ตั้งไว้ คือ ความสามารถด้านการอ่านจับใจความสำคัญภาษาไทย ซึ่งรูปแบบดังกล่าวมีประสิทธิภาพ 83.38/82.89 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้
3) ความสามารถด้านการอ่านจับใจความสำคัญภาษาไทยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 หลังการเรียนโดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาไทย แบบ TUTAR Model สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ซึ่งเป็นไปตามสมมุติฐานการวิจัยที่ตั้งไว้
4) ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาไทย แบบ TUTAR Model มีค่าเฉลี่ยรวม 4.73 อยู่ในระดับมากที่สุด