LASTEST NEWS

27 พ.ย. 2567สพฐ.มีหนังสือ ด่วนที่สุด! ให้นำแนวทาง PISA มาใช้ในการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน และการสรรหาบุคลากร ทุกตำแหน่ง 27 พ.ย. 2567บอร์ดก.ค.ศ.เคาะร่างแนวปฏิบัติการย้ายครู ผ่านระบบ TRS เตรียมเปิดใช้งาน มกราคม 2568 27 พ.ย. 2567โรงเรียนแคมป์สนวิทยาคม รับสมัครครูอัตราจ้าง วิชาเอกภาษาจีน เงินเดือน 12,000.-บาท ตั้งแต่บัดนี้ - 1 ธันวาคม 2567 27 พ.ย. 2567ด่วนที่สุด!! ที่ ศธ 04009/ว7543 เรื่อง การจ้างผู้ปฏิบัติงานให้ราชการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 27 พ.ย. 2567สพฐ. กำชับเขตพื้นที่เร่งคลายทุกข์ลูกจ้าง เดินหน้าพาเด็กกลับเข้าระบบการศึกษา พร้อมจัดงบประมาณแนวใหม่ตอบโจทย์นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” 26 พ.ย. 2567สพฐ. เข้ม สั่งครูล่วงละเมิดนักเรียนออกจากราชการทันที ย้ำดูแลสภาพจิตใจเด็กเป็นสำคัญ 26 พ.ย. 2567สพฐ.เล็งทำบัตรสุขภาพนักเรียนออนไลน์ 26 พ.ย. 2567ทำไมครูส่วนใหญ่ ไม่สนใจสมัครสอบเป็นศึกษานิเทศก์ 26 พ.ย. 2567ก.พ.ยังนิ่งปมทบทวนจ้างเหมาบริการ “ธนุ” ไม่รอแล้วสั่งทำสัญญาจ่ายเงิน ตามระเบียบกรมบัญชีกลาง 25 พ.ย. 2567ล 1932/2567 หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และที่แก้ไขเพิ่มเติม

การประเมินโครงการพัฒนาอาคารสถานที่และบรรยากาศสิ่งแวดล้อม

usericon

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๓
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
ชื่อเรื่อง    การประเมินโครงการพัฒนาอาคารสถานที่และบรรยากาศสิ่งแวดล้อม
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี
ผู้ศึกษา        นายชวัลวัฒน์ ถิรไชยพิบูล
ตำแหน่ง    รองผู้อำนวยการชำนาญการ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี
        สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๓
ปีการศึกษา    2562

บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการพัฒนาอาคารสถานที่และบรรยากาศสิ่งแวดล้อม โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบจำลองซิป (CIPP Model) โดยประเมินในด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการและด้านผลผลิต และเพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะ ตามความคิดเห็นของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
กลุ่มตัวอย่างของการประเมินโครงการ จำนวน 845 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารโรงเรียน จำนวน 4 คน ครู จำนวน 136 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 คน นักเรียน จำนวน 346 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 346 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ แบบสอบถาม จำนวน 2 ฉบับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการศึกษาพบว่า
1. ด้านบริบท ตามความคิดเห็นของผู้บริหารโรงเรียน ครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
2. ด้านปัจจัยนำเข้า ตามความคิดเห็นของผู้บริหารโรงเรียน ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ตามความคิดเห็นของครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก
3. ด้านกระบวนการ ตามความคิดเห็นของผู้บริหารโรงเรียน ครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
4. ด้านผลผลิต ประกอบด้วยการประเมิน 2 ด้าน ดังนี้
4.1 ด้านผลการดำเนินงาน ตามความคิดเห็นของผู้บริหารโรงเรียน ครู คณะกรรมการ สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียนและผู้ปกครองนักเรียน ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
4.2 ด้านผลกระทบ พบว่าผู้ปกครองนักเรียน ชุมชนมีความตระหนักและเห็นความสำคัญของการดำเนินกิจกรรมตามโครงการ ให้การยอมรับโรงเรียน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมี ความพึงพอใจต่อโรงเรียนเป็นอย่างมาก
สำหรับข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุง และพัฒนา ควรจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนโครงการอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง และควรมีการทำความเข้าใจแก่บุคลากรหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้มากขึ้นทั้งนี้เพื่อให้ได้รับความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจในการทำงาน โดยมีวิสัยทัศน์และ ความมุ่งมั่นของผู้บริหารเป็นหัวใจสำคัญที่จะส่งผลให้มีการพัฒนาองค์กรและพัฒนาบุคคลให้ไปสู่เป้าหมายร่วมกัน

บทที่ 1
บทนำ

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 มาตรา 9 ได้กำหนดไว้ว่า การบริหารราชการเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ ให้ส่วนราชการปฏิบัติคือ 1) ก่อนจะดำเนินการตามภารกิจใด ส่วนราชการจะต้องจัดทำแผนปฏิบัติราชการไว้เป็นการล่วงหน้า 2) การกำหนดแผนปฏิบัติราชการตาม (1) ต้องมีรายละเอียดของขั้นตอน ระยะเวลาและงบประมาณที่จะต้องใช้ในการดำเนินการของแต่ละขั้นตอน เป้าหมายของภารกิจ ผลสัมฤทธิ์ของภารกิจ และตัวชี้วัดความสำเร็จของภารกิจ และมาตรา 16 ในแต่ละปีงบประมาณให้ส่วนราชการจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีฯ ประกอบกับคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 เห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณและการปรับปรุงปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ เพื่อให้ส่วนราชการเตรียมความพร้อมในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 และกำหนดแผนการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับปฏิทินงบประมาณ โดยให้ทุกส่วนราชการจัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 เบื้องต้น (Pre-Ceiling) ตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2561 ให้สอดคล้องกับร่างกรอบยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2575) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2558 - 2564) และโยบายรัฐบาล (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) นั้น
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงได้จัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สำหรับการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2561) ขึ้น เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติงานและจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

ยุทธศาสตร์
1.    จัดการศึกษาเพื่อความมั่นคง
2.    พัฒนาคุณภาพผู้เรียนและส่งเสริมการจัดการศึกษาเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน
3.    ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา
4.    ขยายโอกาสการเข้าถึงทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ
5.    จัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
6.    พัฒนาระบบบริหารจัดการและส่งเสริมการมีส่วนร่วม
ในขั้นตอนการกำหนดสาระสำคัญของแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะเน้นให้ความสำคัญในการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) และแผนการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ. 2560-2574) กับทิศทางที่จะพัฒนาการศึกษาในมิติต่างๆ ทั้งในมิติด้านความมั่นคง มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสังคม และมิติด้าน การบริหารจัดการภาครัฐ รวมทั้งได้วิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งภายนอกและภายใน (SWOT) ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการทั้งหมด ได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งของคนภายในประเทศอันเนื่องมาจากปัญหาทางการเมือง ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การติดกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจ ปัญหาคุณภาพแรงงาน โครงสร้างประชากรเข้า สู่การเป็นสังคมสูงวัย การเปิดเสรีภายใต้ข้อตกลงเขตเศรษฐกิจอาเซียน การก้าวกระโดดของเทคโนโลยีไปสู่สังคมดิจิทัล เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (SDGs) อำนาจหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (มาตรา44) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รวมทั้งรายงานผลการดำเนินงานประจำปีที่ผ่านมา การตรวจสอบสภาพด้านต่าง ๆ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในปัจจุบัน และการคาดการณ์แนวโน้มการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในอนาคตมาใช้ในการร่วมวิเคราะห์ต่อไป
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และฉบับที่ 3 พ.ศ. 2553 ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพคนในมาตรา 6 การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่าง มีความสุข และมาตรา 7 ในกระบวนการเรียนรู้ต้องมุ่งปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รู้จักรักษาและส่งเสริมสิทธิหน้าที่เสรีภาพ ความเคารพกฎหมาย ความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีความภาคภูมิใจ ในความเป็นไทย รู้จักรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ รวมทั้งส่งเสริมศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมของชาติ การกีฬา ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทยและความรู้อันเป็นสากล ตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความสามารถในการประกอบอาชีพ รู้จักพึ่งตนเอง ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใฝ่รู้และเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง (สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, 2553 : 3)
ทั้งนี้ การปฏิบัติงานในการพัฒนาการศึกษาต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องพัฒนาทุกคนให้มีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ปฏิรูปการเรียนรู้ ปลูกฝังและเสริมสร้างศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ พัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยี พัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้เพื่อสร้างความรู้ ความคิด พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา จัดระบบทรัพยากรและการลงทุนทางการศึกษา มุ่งการพัฒนาคนและสังคมแห่งการเรียนรู้ รัฐได้ตระหนักว่าการจัดการศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้การพัฒนาคนที่สมบูรณ์ต้องพัฒนาทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม จริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่าง มีความสุข ซึ่งเป็นการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวมและเกิดขึ้นได้ตลอดเวลารวมไปถึงเมื่อนักเรียนอยู่นอกโรงเรียนด้วย จึงจำเป็นที่จะต้องให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับนักเรียน ตั้งแต่ผู้ปกครอง ชุมชน ครูและ ผู้บริหารโรงเรียน บุคลากรทางการศึกษาทั้งโรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษาและข้าราชการในส่วนกลาง สื่อมวลชนและภาคส่วนอื่นๆ ของสังคม เกิดความตระหนักว่าตนเองมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อการพัฒนาของนักเรียนซึ่งในปัจจุบันแม้จะเป็นเพียงเด็กและเยาวชน แต่ในอนาคตจะเป็นทรัพยากรมนุษย์ต้องมีคุณภาพเพื่อจะสามารถรับผิดชอบระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2558 : 41)
กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเยาวชนของชาติเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 โดยมีการกำหนดสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน มุ่งส่งเสริมพัฒนานักเรียนทุกคนซึ่งเป็นกำลังของชาติให้เป็นมนุษย์ ที่มีความสมบูรณ์ทั้งด้านร่างกาย ความรู้ คุณธรรม มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและเป็นพลโลก ยึดมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความรู้และทักษะพื้นฐาน รวมทั้งทัศนคติที่จำเป็นต่อการศึกษาต่อการประกอบอาชีพและการศึกษาตลอดชีวิต โดยมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญบนพื้นฐานความเชื่อว่า ทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ เต็มศักยภาพ ทั้งนี้ควรมุ่งสร้างกระแสสังคมให้การเรียนรู้เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน มีนิสัยใฝ่รู้ รักการอ่านตั้งแต่วัยเด็ก และส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกันของคนต่างวัย ควบคู่กับการส่งเสริมให้องค์กร กลุ่มบุคคล ชุมชน ประชาชนและสื่อทุกประเภทเป็นแหล่งเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ สื่อสารด้วยภาษา ที่เข้าใจ ง่าย รวมถึงส่งเสริมการศึกษาทางเลือกที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและสนับสนุนปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2558 : 2)
สถานศึกษาเป็นองค์กรหนึ่งที่มีหน้าที่ในการขัดเกลาและพัฒนาความรู้ ความสามารถ ทัศนคติ ค่านิยม พฤติกรรมและคุณธรรมต่าง ๆ แก่ผู้เรียนอันจะส่งผลให้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคมและประเทศชาติ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 หมวด 4 มาตรา 24 ข้อ 5 และ 6 จึงได้ระบุว่า การจัดกระบวนการเรียนรู้ ให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังต่อไปนี้ ทำการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศสภาพแวดล้อม สื่อการเรียนการสอนที่อำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความรอบรู้ และสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่ง ของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ทั้งผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนการสอน และแหล่งวิทยาการประเภทต่าง ๆ และสถานศึกษาควรจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาทุกสถานที่ มีการประสานความร่วมมือกับบิดามารดา ผู้ปกครอง และบุคคลในชุมชน ทุกฝ่ายเพื่อพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ จากพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงส่งผลให้กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดหลักการจัดกระบวนการเรียนรู้ โดยให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนจัดบรรยากาศสภาพแวดล้อม สื่อการเรียนตลอดจนสื่ออำนวยความสะดวกเพื่อให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งสอดคล้องกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ที่ได้ระบุสาระสำคัญของมาตรฐานการศึกษาเพื่อการประเมินคุณภาพภายนอกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะมาตรฐานด้านกระบวนการ มาตรฐานที่ 15 ให้มีการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ 2554 : 24)
โรงเรียนเป็นสถานที่เด็กจะต้องเข้าไปใช้ชีวิตวันละหลายชั่วโมง ปีละไม่ต่ำกว่า 200 วัน และเป็นเวลา 9-12 ปีเพื่อเรียนให้จบการศึกษาขั้นพื้นฐานตลอดเวลาที่ใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียน สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในโรงเรียนมีอิทธิพลต่อการจัดการเรียนการสอน ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ ของนักเรียน ถ้าโรงเรียนจัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมให้แก่นักเรียนโดยสามารถปลูกจิตสำนึก ที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขสามารถจำแบบอย่างสิ่งแวดล้อมที่ดีที่โรงเรียนจัดนำไปเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตโดยเฉพาะอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อมที่สร้างขึ้นเช่น บริเวณที่ตั้งอาคารเรียน อาคารประกอบ ห้องปฏิบัติการ ห้องสื่ออุปกรณ์ น้ำดื่มน้ำใช้ การสุขาภิบาลในโรงเรียนให้อยู่ในสภาพที่ดีถูกสุขลักษณะ (นฤมล ก้อนขาว, 2558 : 2) ซึ่งบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่ดี ของโรงเรียนจะมีส่วนในการเสริมสร้างความคิด จิตใจและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน บรรยากาศและสภาพแวดล้อมในโรงเรียนมีประโยชน์ต่อพัฒนาการของเด็กนักเรียนหลายประการ คือ 1) พัฒนาการทางร่างกาย โรงเรียนที่มีสนามกีฬาและสถานที่พักผ่อนพอเพียงและถูกหลักวิชา จะช่วยพัฒนาสุขภาพอนามัยของเด็กได้เป็นอย่างดี สิ่งแวดล้อมที่ดีไม่มีมลภาวะต่างๆ มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีสุขาภิบาลที่ดี มีโภชนาการที่เหมาะสมล้วนแต่มีผลต่อพัฒนาการทางร่างกายของเด็กและขจัดอุบัติเหตุทั้งหลายที่จะเกิดแก่นักเรียนได้ 2) พัฒนาการทางสติปัญญา สภาพแวดล้อม ของโรงเรียน ล้วนมีผลต่อการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนเพราะสิ่งแวดล้อมเป็นทั้งสื่อและอุปกรณ์การเรียนรู้และเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน สิ่งแวดล้อมที่ดีย่อมมีอิทธิพลต่อพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กนักเรียนเพราะสภาพแวดล้อมที่ดีคือสิ่งจูงใจให้เด็กนักเรียนอยากเรียน 3) พัฒนาการทางด้านอารมณ์และจิตใจ บรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่สวยงาม สะอาด สะดวกสบายและน่าสนใจ เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาสภาพอารมณ์ จิตใจของนักเรียนทั้งสิ้น สภาพแวดล้อมที่ดีจะนำไปสู่พัฒนาการทางด้านอารมณ์และจิตใจที่พึงประสงค์ สภาพบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่ดีมีส่วนหล่อหลอมบุคลิกภาพและพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของเด็ก โรงเรียนสะอาด สวยงาม มีระเบียบ เด็กจะถูกหล่อหลอมให้เป็นคนรักสวยรักงาม รักความสะอาด รักความมีระเบียบวินัย สภาพแวดล้อมในโรงเรียนที่มีบรรยากาศของกัลยาณมิตร มีความเอื้อเฟื้อเกื้อxxxลกัน เสียสละร่วมมือ สิ่งเหล่านี้ย่อมสร้างสรรค์ให้เด็กเป็น “คนดีและพลเมืองดี” (ณิศศา ณภาส์ณัฐ 2558 :62)
การพัฒนาส่งเสริมสนับสนุนผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการจัดการเรียนการสอน การจัดกิจกรรมและพัฒนาส่งเสริมบรรยากาศสิ่งแวดล้อมโดยให้สถานศึกษาจัดบริเวณรอบๆ ให้เกิดความร่มรื่น เป็นระเบียบ สบายตา สบายใจและการจัดการศึกษาเพื่อให้เกิด ความตระหนักในความสำคัญ เกิดกิจกรรมร่วมในการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมเพื่อให้เกิดบรรยากาศส่งเสริมการเรียนรู้ ทั้งนี้เพราะบรรยากาศสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการช่วยกระตุ้น สร้างแรงจูงใจให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียน ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจแก่นักเรียนด้วยความสบายใจ รู้จักคิดแก้ปัญหาได้เอง รวมทั้งการที่ได้อยู่ในโรงเรียนที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีก็ก่อให้เกิดความภูมิใจและความรักในโรงเรียนในสถาบัน ความรู้สึกเช่นนี้ย่อมจะนำไปสู่ความรู้สึกหวงแหนในชื่อเสียงโรงเรียน และถ้าโรงเรียนสร้างความรู้สึกเช่นนี้ให้เกิดขึ้นได้ก็จะเป็นสิ่งที่ควบคุมความประพฤติของนักเรียนไปในตัวเพราะนักเรียนย่อมจะไม่พยายามให้โรงเรียนที่ตนเองรักและภูมิใจต้องเสียชื่อเสียงเพราะ การกระทำของตน และอาคารสถานที่นั้นเป็นสิ่งที่ใช้ในการศึกษาแก่นักเรียนทั้งทางตรงและทางอ้อม กล่าวคือในโรงเรียนนั้นเราต้องใช้ห้องเรียน ห้องประกอบอื่นๆ และห้องที่ให้บริการแก่นักเรียน ซึ่งถือได้ว่าเป็นไปเพื่อให้การศึกษาโดยตรง ในขณะเดียวกันการจัดอาคารสถานที่ที่สวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย ความเคยชินต่อสิ่งที่ดีงามก็จะค่อยๆ ซึมซาบเข้าไปในความรู้สึกจนเกิดเป็นนิสัยที่จะรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยนั้นต่อไปด้วย กระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญของการ จัดบรรยากาศสภาพแวดล้อมรอบตัวผู้เรียนซึ่งโรงเรียนจะต้องจัดควบคู่กันไปด้วยกับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพราะถ้าจัดบรรยากาศ การเรียนการสอนได้เหมาะสมก็จะเป็นการสนับสนุน และส่งเสริมให้การเรียนการสอนและกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นไปด้วยดี ดังนั้นกระบวนการเรียนรู้ในระบบโรงเรียนที่พึงประสงค์จึงต้องมีการจัดบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมทั้งภายใน และภายนอกให้สนับสนุนผู้เรียนทุกคนได้พัฒนาตามศักยภาพ มีการจัดการเรียนการสอน ที่หลากหลายจากปัญหาจริง ประสบการณ์จริงตามธรรมชาติ เชื่อมโยงศาสตร์ต่างๆ ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนสู่การปฏิบัติจริงในชีวิต ซึ่งจะต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ใคร่ครวญ ได้ศึกษาแสวงหาความรู้ ความจริงด้วยตนเอง ได้ตัดสินใจและแก้ไขปัญหาอย่างฉลาดรวมทั้งได้ร่วมงานกับผู้อื่นอย่าง มีความสุขและพร้อมที่จะทำประโยชน์ให้สังคม (ณัฐภัค อุทโท, 2558 : 9-10)
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรีได้ให้ความสำคัญกับบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมซึ่งสอดคล้องกับเอกลักษณ์ของโรงเรียนที่ว่า “สิ่งแวดล้อมดี” โรงเรียนเห็นความสำคัญและคำนึงถึงเยาวชนในสถานศึกษาที่ควรได้รับการอบรมและปลูกฝังให้มีจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมและ การปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม โรงเรียนจึงเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้อง จัดบรรยากาศและสภาพแวดล้อมในโรงเรียนให้สะอาด ร่มรื่น สวยงาม ปลอดภัย ส่งเสริมการพัฒนาของนักเรียนทุกๆ ด้านให้เหมาะสมกับวัยและสร้างอุปนิสัยที่ดีติดตัวเพื่อนำไปใช้ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมต่อไป ทั้งนี้โรงเรียนได้ทำโครงการพัฒนาอาคารสถานที่และบรรยากาศสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ ปีการศึกษา 2555 จนถึงปัจจุบัน แต่ยังไม่มีการประเมินโครงการพัฒนาอาคารสถานที่และบรรยากาศสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบมาก่อนทำให้ไม่ทราบว่าผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จเพียงใด มีปัญหาและอุปสรรคใดบ้างที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
การที่จะทราบว่าโครงการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว บรรลุวัตถุประสงค์มากน้อยเพียงไรหรือการจะตัดสินใจดำเนินโครงการต่อไปในปีการศึกษาหรือปีงบประมาณหน้าอีกหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้คำตอบได้คือ การประเมินโครงการเพราะการประเมินโครงการเป็นการตรวจสอบโครงการ ที่ดำเนินงานทั้งหมดในทุกขั้นตอนของการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านกระบวนการและผลผลิต ที่เกิดขึ้น ซึ่งมีรูปแบบของโมเดลการประเมินที่หลากหลาย รูปแบบการประเมินแบบจำลองซิป (CIPP Model) ตามแนวคิดของสตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam) เป็นรูปแบบการประเมินแบบหนึ่ง ที่เป็นการประเมินเชิงระบบและเป็นรูปแบบที่ยอมรับโดยทั่วไปว่ามีความเหมาะสมในการประเมินโครงการเนื่องจากการประเมินผลครบถ้วนทุกส่วนของโครงการทั้งด้านบริบทหรือสภาพแวดล้อม ปัจจัยนำเข้า กระบวนการและผลผลิต ทำให้ทราบผลการดำเนินโครงการว่าบรรลุวัตถุประสงค์มากน้อยเพียงไร และช่วยให้ทราบถึงข้อบกพร่องของโครงการเพื่อให้ได้แนวทางในการพัฒนาที่ดีและประกอบ การตัดสินใจที่จะดำเนินโครงการต่อไป
จากที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ศึกษาซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้บริหารโรงเรียนที่มีส่วนในการ จัดแหล่งการเรียนรู้และพัฒนาบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนให้กับเยาวชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต จึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการติดตามประเมินผลโครงการพัฒนาอาคารสถานที่และบรรยากาศสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบโดยใช้รูปแบบการประเมินแบบจำลองซิป (CIPP Model) เพื่อให้ได้ข้อมูลที่จะใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงและพัฒนาโครงการให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับความต้องการของนักเรียนและเสริมสร้างมาตรฐานที่ดีให้แก่โรงเรียนต่อไป

วัตถุประสงค์ของการศึกษา
1. เพื่อประเมินโครงการพัฒนาอาคารสถานที่และบรรยากาศสิ่งแวดล้อม โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี
2. เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะ ตามความคิดเห็นของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

กรอบแนวคิดในการศึกษา
    การประเมินโครงการพัฒนาอาคารสถานที่และบรรยากาศสิ่งแวดล้อม โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี ใช้รูปแบบการประเมินตามรูปแบบจำลองซิป (CIPP Model) ของสตัฟเฟิลบีม (Stuffebeam) โดยมุ่งประเมินส่วนต่าง ๆ ดังนี้
1. การประเมินด้านบริบท (Context Evaluation) เป็นการประเมินเกี่ยวกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ
2. การประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) เป็นการประเมินเกี่ยวกับ งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ บุคลากรและวิธีการดำเนินงาน
3. การประเมินด้านกระบวนการ (Process Evaluation) เป็นการประเมินเกี่ยวกับกระบวนการดำเนินงานตามโครงการ
4. การประเมินผลผลิต (Product Evaluation) ประกอบด้วยการประเมิน 2 ด้าน ดังนี้
4.1 การประเมินผลการดำเนินงาน (Output Evaluation)ได้แก่ ผลการดำเนินงานตามโครงการ
4.2 การประเมินผลกระทบ (Impact Evaluation)ได้แก่ ผลที่เกิดขึ้นหลังดำเนินงานตามโครงการต่อนักเรียน โรงเรียนและชุมชน
สรุปเป็นกรอบแนวคิดในการศึกษาครั้งนี้ ดังภาพที่ 1











ภาพที่ 1 กรอบแนวคิดในการศึกษา

ขอบเขตของการศึกษา
ผู้ศึกษากำหนดขอบเขตของการประเมินดังนี้
    1. การประเมินโครงการพัฒนาอาคารสถานที่และบรรยากาศสิ่งแวดล้อมครั้งนี้ ใช้รูปแบบการประเมินแบบจำลองซิป (CIPP Model) ของสตัฟเฟิลบีม (Stuffebeam 1985 :128-150) ซึ่งประกอบด้วย
    1.1 การประเมินบริบท
    1.2 การประเมินปัจจัยนำเข้า
    1.3 การประเมินกระบวนการ
    1.4 การประเมินผลผลิต
2. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
2.1 ประชากรประกอบด้วยบุคคล 5 กลุ่มที่มีส่วนร่วมในการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาอาคารสถานที่และบรรยากาศสิ่งแวดล้อม โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี ปีการศึกษา 2562 จำนวน 6,740 คน ได้แก่ ผู้บริหารโรงเรียน จำนวน 5 คน ครูจำนวน 206 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวน 13 คน (ไม่นับรวมผู้อำนวยการโรงเรียนที่เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและข้าราชการครูที่เป็นตัวแทนครู รวมจำนวน 2 คน) นักเรียนจำนวน 3,258 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 3,258 คน
2.2. กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้มีจำนวน 845 คน ประกอบด้วยผู้บริหารโรงเรียน จำนวน 4 คน ครู จำนวน 136 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 คน นักเรียน จำนวน 346 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 346 คน
3. ตัวแปรที่ศึกษา
    3.1 ตัวแปรต้น หมายถึง โครงการพัฒนาอาคารสถานที่และบรรยากาศสิ่งแวดล้อม โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี
    3.2 ตัวแปรตาม หมายถึง ผลสัมฤทธิ์ของโครงการโดยประเมินจาก
3.2.1 การประเมินด้านบริบท (Context Evaluation) เป็นการประเมินเกี่ยวกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ
3.2.2 การประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) เป็นการประเมินเกี่ยวกับงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ บุคลากรและวิธีการดำเนินงาน
3.2.3 การประเมินด้านกระบวนการ (Process Evaluation) เป็นการประเมินเกี่ยวกับกระบวนการดำเนินงานตามโครงการ
3.2.4 การประเมินผลผลิต (Product Evaluation) ประกอบด้วยการประเมิน 2 ด้าน ดังนี้
3.2.4.1 การประเมินผลการดำเนินงาน (Output Evaluation) ได้แก่ ผลการดำเนินงานตามโครงการ
3.2.4.2 การประเมินผลกระทบ (Impact Evaluation) ได้แก่ ผลที่เกิดขึ้นหลังการดำเนินงานตามโครงการต่อนักเรียน โรงเรียนและชุมชน



นิยามศัพท์เฉพาะ
1. โครงการพัฒนาอาคารสถานที่และบรรยากาศสิ่งแวดล้อม หมายถึง โครงการ ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี ปีการศึกษา 2562 เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อให้โรงเรียนมีบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ดี สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม เป็นการเสริมสร้างสุขภาพกาย ที่สมบูรณ์ แข็งแรงและสุขภาพจิตที่ดีของนักเรียน ครู และบุคลากรที่ปฏิบัติงานอยู่ในโรงเรียน
2. การประเมินโครงการพัฒนาอาคารสถานที่และบรรยากาศสิ่งแวดล้อม หมายถึง การประเมินโครงการพัฒนาอาคารสถานที่และบรรยากาศสิ่งแวดล้อม โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรีโดยประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินแบบจำลองซิป (CIPP Model) ประกอบด้วยการประเมิน 4 ด้านดังนี้
2.1 การประเมินด้านบริบท (Context Evaluation) หมายถึง การประเมินความสอดคล้องของวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ
2.2 การประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) หมายถึง การประเมินความเหมาะสมของงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ บุคลากรและวิธีการดำเนินงานของโครงการ
2.3 การประเมินด้านกระบวนการ (Process Evaluation) หมายถึง การประเมินความเหมาะสมของกระบวนการดำเนินงานตามโครงการ
2.4 การประเมินผลผลิต (Product Evaluation) หมายถึง การประเมินความสอดคล้องของผลการดำเนินงานตามโครงการ ประกอบด้วย
2.4.1 การประเมินผลการดำเนินงาน (Output Evaluation) ได้แก่ ผลการดำเนินงานตามโครงการ
2.4.2 การประเมินผลกระทบ (Impact Evaluation) ได้แก่ ผลที่เกิดขึ้นหลังดำเนินงานตามโครงการต่อนักเรียน โรงเรียนและชุมชน
3. ผู้บริหารโรงเรียน หมายถึง ผู้อำนวยการโรงเรียนและรองผู้อำนวยการโรงเรียนที่ปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี ปีการศึกษา 2562
4. ครู หมายถึง ครูที่ปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี ปีการศึกษา 2562
5. คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน หมายถึง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี ที่ปฏิบัติหน้าที่ในปีการศึกษา 2562
6. นักเรียน หมายถึง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี ปีการศึกษา 2562
7. ผู้ปกครองนักเรียน หมายถึง ผู้ปกครองของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี ปีการศึกษา 2562
8. เกณฑ์การประเมิน หมายถึง เกณฑ์ที่กำหนดการผ่านเกณฑ์การประเมิน กำหนดขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งพิจารณาจากการนำโครงการไปเปรียบเทียบกับโครงการซึ่งประสบผลสำเร็จแล้ว
9. ตัวชี้วัด หมายถึง รายการที่ใช้ในการประเมินโครงการพัฒนาอาคารสถานที่และบรรยากาศสิ่งแวดล้อม โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี


ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
ผลที่ได้จากการศึกษาในครั้งนี้ทำให้ทราบผลการดำเนินการตามโครงการพัฒนาอาคารสถานที่และบรรยากาศสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี และใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาวางแผน ปรับปรุงและพัฒนาโครงการและจัดสรรงบประมาณต่อไป
































บทที่ 5
สรุป อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ


การดำเนินการศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการพัฒนาอาคารสถานที่และบรรยากาศสิ่งแวดล้อม โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบจำลองซิป(CIPP Model) ประเมินใน 4 ด้านคือ ด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการและด้านผลผลิต โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
1. เพื่อประเมินโครงการพัฒนาอาคารสถานที่และบรรยากาศสิ่งแวดล้อม โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี
2. เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะ ตามความคิดเห็นของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาประกอบด้ว
ร่วมแสดงความคิดเห็น
เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น!

ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของเว็บไซต์ไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหาย ต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาแจ้งมาที่ แนะนำติชม เพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป

ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้

^