การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ประกอบชุดการสอนรายวิชาโครงงานฯ
ชื่องานวิจัย การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ประกอบชุดการสอนรายวิชาโครงงาน วิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียน อบจ.เมืองภูเก็ต
ชื่อผู้วิจัย นางสาวอัญชิสา ขุนเจริญ
ปีการศึกษา 2561
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการจัดการเรียนรู้ประกอบชุดการสอนรายวิชาโครงงานวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 (2) เพื่อหาดัชนีประสิทธิผลของการจัดการเรียนรู้ประกอบชุดการสอนรายวิชาโครงงานวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ประกอบชุดการสอนรายวิชาโครงงานวิทยาศาสตร์
ในการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง ( experimental research ) โดยใช้แบบแผนการทดลองแบบกลุ่มทดลองแบบกลุ่มเดียว (One Group Pretest - Posttest Design ) วัดผลก่อนและหลัง ประชากรเป้าหมายคือนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียน อบจ.เมืองภูเก็ต จำนวน 32 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) แผนการจัดการเรียนรู้ประกอบชุดการสอนโครงงานวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ประกอบด้วยข้อสอบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 40 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบทั้งฉบับเท่ากับ 0.89 และ 3) แบบความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้ประกอบชุดการสอนรายวิชาโครงงานวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ 1)ค่าเฉลี่ย 2)ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 3)ประสิทธิภาพ (E1/E2) และ 4) ดัชนีประสิทธิผล (E.I.)
ผลการวิจัยสรุปได้ ดังนี้
1. ประสิทธิภาพของกระบวนการและประสิทธิภาพของผลลัพธ์ของการจัดการเรียนรู้ประกอบชุดการสอนโครงงานวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์โดยเฉลี่ย เท่ากับ 83.64/81.88 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ 80/80
2. ค่าดัชนีประสิทธิผลของการจัดการเรียนรู้ประกอบชุดการสอนโครงงานวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เท่ากับ 0.7096 คิดเป็นร้อยละ 70.96
3. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ประกอบชุดการสอนโครงงานวิทยาศาสตร์ ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ความพึงพอใจในแต่ละด้านสรุปได้ตามลำดับดังนี้ ลำดับแรกคือ ความพึงพอใจด้านสื่อการเรียนรู้ รองลงมาคือ ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และความพึงพอใจด้านการวัดและประเมินผล ตามลำดับ