การพัฒนาทักษะการอ่าน การเขียน และส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเร
ชื่อจัดทำ นางอมราพร ทองสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดุหุน
ระยะเวลาดำเนินการ ปีการศึกษา 2555-2556
บทสรุป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อส่งเสริมคุณภาพการพัฒนาทักษะการอ่าน การเขียน และส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนให้ได้มาตรฐานตามระดับชั้นเรียน
2. เพื่อพัฒนาทักษะการอ่าน การเขียนและการมีนิสัยรักการอ่าน ของนักเรียนตามความสามารถพื้นฐานของนักเรียน
3. เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องในการพัฒนาทักษะการอ่าน การเขียนและส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน
4. เพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้องในการพัฒนาทักษะการอ่าน การเขียนและส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน
การดำเนินการ
กิจกรรมพัฒนาทักษะการอ่านและส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน
1) กิจกรรมภาษาไทยวันนี้ ดำเนินการดังนี้
ครูประจำกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-6 มอบหมายนักเรียนค้นหาคำศัพท์ในบทเรียนแต่ละชั้นของตนเองเมื่อได้คำศัพท์แล้วนักเรียนค้นหาคำอ่านและความหมายของคำในบทเรียนแล้วนำมาแต่งประโยคโดยศึกษาเพิ่มเติมจากหนังสือเรียน พจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถานหรือหนังสือจากห้องสมุดซึ่งครูจะมอบหมายให้วันละ 1 คน คนละ 1 คำ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป โดยส่งให้ครูตรวจความถูกต้องให้เรียบร้อยก่อนมานำเสนอ หน้าเสาธง จากนั้นให้นักเรียนเขียนในกระดานที่เตรียมไว้และให้นักเรียนจดบันทึกคำเหล่านั้นลงในสมุดภาษาไทยวันละคำทุกวัน ส่งให้ครูผู้สอนสาระการเรียนรู้ภาษาไทยตรวจทุกสัปดาห์และครูรายงานให้ผู้บริหารทราบเดือนละครั้ง
2) กิจกรรมวางทุกงานอ่านทุกคน ดำเนินการดังนี้
ครูประจำชั้นมอบหมายให้นักเรียนเลือกอ่านหนังสือจากห้องสมุดหรือจากแหล่งเรียนรู้อื่น เช่น มุมหนังสือในห้องเรียน ห้องสมุด ตะกร้าหนังสือ หรือหนังสือพิมพ์ ตามที่นักเรียนสนใจ จากนั้นเมื่อนักเรียนอ่านจบแล้วให้นักเรียนสรุปเรื่องที่อ่านแล้วบันทึกลงในสมุดบันทึกการอ่าน สัปดาห์ละไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง แล้วนำไปส่งให้ครูประจำชั้นตรวจผลงานทุกสัปดาห์
3) กิจกรรมหนังสือเล่มโปรด ดำเนินการดังนี้
ครูประจำชั้นมอบหมายให้นักเรียนเลือกหนังสือเล่มโปรดที่นักเรียนอยากอ่านในช่วงวันปิดภาคเรียนโดยให้นักเรียนยืมหนังสือไปอ่านที่บ้านพร้อมกับบันทึกการอ่านและต้องนำหนังสือมาส่งในวันแรกของการเปิดภาคเรียนแล้วนำบันทึกการอ่านไปส่งให้ครูประจำชั้นตรวจผลงาน
4) กิจกรรมมอบหนังสือให้ลูกรัก ดำเนินการดังนี้
ผู้ปกครองนักเรียนทุกคนจัดหาหนังสืออ่านนอกเวลาคนละ 1 เล่ม ให้นักเรียนอ่านนอกเวลาและใช้อ่านในกิจกรรมวางทุกงานอ่านทุกคน
5) กิจกรรมหนูน้อยนักอ่าน ดำเนินการดังนี้
ครูประจำชั้นมอบหมายให้นักเรียนค้นคว้าอ่านหนังสือจากห้องสมุดหรือจากแหล่งเรียนรู้อื่น เช่น มุมหนังสือในห้องเรียน ค้นคว้าทางอินเตอร์เน็ต หรือสื่อที่ครูจัดให้เพื่อนำมาบันทึกลงในสมุดบันทึกการอ่าน เลือกตัวแทนนักเรียนแต่ละชั้นอ่านให้เพื่อนฟังทุกวันจันทร์-วันศุกร์วันละ 30 นาที ครูคอยแนะนำให้คำปรึกษา ทุกวันศุกร์สิ้นเดือนมีการประกวดหนูน้อย นักอ่าน เพื่อมอบรางวัลหนูน้อยนักอ่านประจำเดือน ครูผู้รับผิดชอบให้คำแนะนำ ปรึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการอ่านของนักเรียนให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุวัตถุประสงค์
6) กิจกรรมคาราวานรักการอ่าน ดำเนินการดังนี้
ครูผู้รับผิดชอบขอความร่วมมือจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนมาร่วมจัดกิจกรรม ครูประจำชั้นมอบหมายให้นักเรียนค้นคว้าอ่านหนังสือ และสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่นักเรียนสนใจ เพื่อนำมาบันทึกลงในสมุดบันทึกการอ่าน ครูผู้รับผิดชอบให้คำแนะนำ ปรึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการอ่านของนักเรียนให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุวัตถุประสงค์
กิจกรรมสำหรับการส่งเสริมพัฒนาทักษะการเขียนของนักเรียนประกอบด้วย
1) กิจกรรมหนังสือเล่มเล็ก ดำเนินการดังนี้
ครูประจำกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 มอบหมายนักเรียนได้อ่านเรื่องราวที่น่าสนใจจากอ่านหนังสือ และสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่นักเรียนสนใจ เพื่อนำมาเขียนเรียงความเป็นหนังสือเล่มเล็กตามความสนใจของนักเรียน ครูให้คำแนะนำ ปรึกษาเกี่ยวกับการเขียนของนักเรียนให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุวัตถุประสงค์ครูรายงานความก้าวหน้าให้ผู้บริหารทราบเดือนละครั้ง
2) กิจกรรมเขียนตามคำบอก ดำเนินการดังนี้
ครูประจำกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ให้นักเรียนฝึกเขียนตามคำบอกวันละ 5 คำ ทุกวัน โดยเริ่มจากคำที่ง่ายไปหายาก คำที่นักเรียนเขียนผิดให้นักเรียนคัดใหม่ให้ถูกต้องและต้องอ่านให้ครูฟังทุกครั้ง ครูรายงานความก้าวหน้าให้ผู้บริหารทราบเดือนละครั้ง
3) กิจกรรมค้นหาคำศัพท์จากพจนานุกรม ดำเนินการดังนี้
ครูประจำกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยกำหนดคำศัพท์ที่มีความหมายหรือต้องมีการแปล ให้นักเรียนทำการค้นคว้าจากพจนานุกรมทุกวัน วันละ 5 คำ จดบันทึกในสมุดนำมาอ่านให้ครูฟังทั้งคำศัพท์และความหมาย ครูตรวจผลงานนักเรียนและรายงานความก้าวหน้าให้ผู้บริหารทราบเดือนละครั้ง
4) กิจกรรมคัดลายมือ ดำเนินการดังนี้
ครูประจำกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยสอนการคัดลายมือที่ถูกต้องตามหลักการเขียน ให้นักเรียนประมาณ 4-5 บรรทัด จนสามารถคัดลายมือ เขียนคำและประโยคต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง ครูตรวจผลงานนักเรียนและรายงานความก้าวหน้าให้ผู้บริหารทราบเดือนละครั้ง
5) กิจกรรมดาวนักเขียน ดำเนินการดังนี้
ครูผู้รับผิดชอบกิจกรรมประชุมชี้แจงครูประจำกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เพื่อแข่งขันทักษะทางการเขียนของนักเรียน เกี่ยวกับการทำหนังสือเล่มเล็ก การเขียนตามคำบอก การค้นหาคำศัพท์จากพจนานุกรม กิจกรรมคัดลายมือ คัดเลือกนักเรียนที่มีผลงานเด่นที่สุดในแต่ละกิจกรรม มอบเกียรติบัตรของของรางวัลในวันภาษาไทย
ผลที่เกิดจากการนำนวัตกรรมไปใช้
1. นักเรียนได้รับการส่งเสริมและพัฒนาทักษะการอ่าน การเขียน และส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ได้มาตรฐานตามระดับการเรียนรู้
2. ครูสามารถจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะการอ่าน การเขียนและส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ของนักเรียน ตามความสามารถของนักเรียนส่งผลให้นักเรียนได้รับการพัฒนาได้มาตรฐานตามระดับการเรียนรู้
3. ครู นักเรียน ผู้ปกครอง มีความพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการในระดับมาก
4. โรงเรียนสามารถพัฒนาทักษะการอ่าน การเขียนและส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ของนักเรียน ได้มาตรฐานตามระดับการเรียนรู้
ข้อเสนอแนะในการนำผลการดำเนินงานไปใช้
1. ผู้บริหารเป็นที่ปรึกษา หรือให้คำแนะนำให้ความรู้ตลอดจนส่งเสริมในการจัดกิจกรรมในโครงการอย่างต่อเนื่องและสร้างขวัญกำลังใจแก่บุคคล มีความยุติธรรม มีความเป็นกลางเป็นที่ยอมรับตลอดการดำเนินโครงการ
2. ควรมีการนิเทศ ติดตาม กำกับดูแล ช่วยเหลือและการประเมินผล เกี่ยวกับการดำเนินงานตามโครงการทั้งเป็นกลุ่มบริหารหัวหน้ากลุ่มสาระและเป็นรายบุคคล แบบกัลยาณมิตรโดยเน้นการมีส่วนร่วม
3. ครูควรจัดกิจกรรมแต่ละกิจกรรมควรเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักเรียนและชุมชนได้แก่พฤติกรรมการอ่าน การศึกษาค้นคว้า การใฝ่รู้ใฝ่เรียน มีความรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมาย เสียสละเข้าร่วมกิจกรรมทุกกิจกรรม ที่โรงเรียนจัดขึ้น ควรตระหนักและให้ความสนใจและพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ
4. การส่งเสริม โรงเรียนต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ ขยายผลไปสู่ผู้ปกครองเป็นครอบครัวรักการอ่าน เพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่านอย่างยั่งยืน