การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนแบบ LEP เรื่อง ชีวิตปลอดภัย
กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านปากน้ำปราณ
ผู้วิจัย นางจิตติมา พัฒน์เย็น
ปีที่วิจัย 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนแบบ LEP เรื่อง ชีวิตปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และเพื่อศึกษาผลการทดลองใช้รูปแบบการเรียน
การสอนแบบ LEP เรื่อง ชีวิตปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2
กระบวนการวิจัยมี 4 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นที่ 1 การศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน โดยการศึกษาแนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ขั้นที่ 2 การออกแบบและพัฒนารูปแบบ ขั้นที่ 3 การนำรูปแบบการเรียนการสอนไปใช้ และขั้นที่ 4 ประเมินผลการใช้รูปแบบการเรียนการสอน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 1
ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนบ้านปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาประจวบคีรีขันธ์ เขต 2 จำนวน 32 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบแบ่งกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือ
ที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย รูปแบบการเรียนการสอนแบบ LEP แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และแบบประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติในการดูแลและระวังตนเองให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น
ในโรงเรียน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที (t-test) แบบ Dependent sample
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการเรียนการสอนแบบ LEP เรื่อง ชีวิตปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่พัฒนาขึ้น มีองค์ประกอบหลักดังนี้ หลักการและแนวคิดของรูปแบบ วัตถุประสงค์ของรูปแบบ กระบวนการเรียนการสอน การวัดผลและการประเมินผล รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นมีกระบวนการจัดการเรียนรู้ 3 ขั้นตอน คือ ขั้นเรียนรู้จากประสบการณ์ (Learn from experience: L) ขั้นขยายความรู้และฝึกปฏิบัติ (Expand knowledge and practice: E) และขั้นนำเสนอและสรุปความรู้ (Presentation and summary: P)
ค่าประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนการสอน เท่ากับ 82.48/81.33 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 80/80
2. ผลการทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอน พบว่า นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนแบบ LEP เรื่อง ชีวิตปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา มีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และนักเรียนมีพฤติกรรมการปฏิบัติในการดูแลและระวังตนเองให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในโรงเรียน ในท้องถิ่นและระหว่างการเดินทาง ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก
ค่าเฉลี่ย เท่ากับ 2.63 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.48