รายงานการวิจัยรูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วมในการพัฒนาการบริหาร
รายงานการวิจัยรูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วมในการพัฒนาการบริหารงานวิชาการแบบ TSI ของโรงเรียนเทศบาลบ้านศรีมหาราชา สังกัดเทศบาลเมืองศรีราชา จังหวัดชลบุรี มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย 1) เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วมในการพัฒนาการบริหารงานวิชาการแบบ TSI ของโรงเรียนเทศบาลบ้านศรีมหาราชา สังกัดเทศบาลเมืองศรีราชา จังหวัดชลบุรี 2) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วมในการพัฒนาการบริหารงานวิชาการแบบ TSI ของโรงเรียนเทศบาลบ้านศรีมหาราชา สังกัดเทศบาลเมืองศรีราชา จังหวัดชลบุรี 3) เพื่อประเมินรูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วมในการพัฒนาการบริหารงานวิชาการแบบ TSI ของโรงเรียนเทศบาลบ้านศรีมหาราชา สังกัดเทศบาลเมืองศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยมีแหล่งข้อมูล ดังนี้ 1) แหล่งข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาตามวัตถุประสงค์ข้อที่ 1 คือ เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องด้านการบริหารการศึกษา การจัดการศึกษา ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดศึกษา และกลุ่มผู้ให้ข้อมูล ประกอบด้วย คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 12 คน ตัวแทนครู จำนวน 50 คน ผู้ปกครอง จำนวน 50 คน และตัวแทนนักเรียน จำนวน 90 คน รวมทั้งสิ้น 202 คน การได้มาของกลุ่มผู้ให้ข้อมูลได้จากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) และสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน 2) แหล่งข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาตามวัตถุประสงค์ข้อที่ 2 คือ กลุ่มที่ตอบแบบสอบถามของโรงเรียน ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา และหัวหน้ากลุ่มงาน และหัวหน้าหัวหน้าสาระการเรียนรู้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 15 คน ซึ่งเป็นผู้กำกับและรับผิดชอบในการทดลองใช้วิธีการบริหารงานวิชาการของโรงเรียน 3) แหล่งข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาตามวัตถุประสงค์ข้อที่ 3 คือ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 12 คน ครูผู้สอน จำนวน 50 คน และนักเรียน จำนวน 200 คน และผู้ปกครอง จำนวน 50 คน รวมทั้งสิ้น 312 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ แบบบันทึกข้อเสนอแนะประเด็นต่างๆ ตามหัวข้อของการพัฒนา แบบบันทึกผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และแบบสอบถามประเมินความพึงพอใจ วิเคราะห์ข้อความแล้วสรุปเป็นประเด็น หาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานและการทดสอบค่าที (t-test)
ผลการวิจัย
1.ผลการพัฒนารูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วมในการพัฒนาการบริหารงานวิชาการแบบ TSI ของโรงเรียนเทศบาลบ้านศรีมหาราชา สังกัดเทศบาลเมืองศรีราชา จังหวัดชลบุรี พบว่า มีความตรงและความเหมาะสมมากซึ่งเกิดจากการบูรณาการ 3 วิธีการ ได้แก่
วิธีที่ 1 การพัฒนาครู (Teacher Development : T) เป็นการพัฒนาความรู้ความสามารถในการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียน ด้วยกระบวนการวิจัยและความสามารถในการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน และใช้เทคโนโลยีทางการศึกษา ประกอบด้วย 5 โครงการ คือ 1) โครงการอบรมครูและศึกษาดูงาน 2) โครงการนิเทศภายใน 3) โครการส่งเสริมและพัฒนาการทำงานวิจัยในชั้นเรียนของครู 4) โครงการส่งเสริมพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ และสื่อการเรียนการสอน 5) โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่ห้องเรียน
วิธีที่ 2 การขอความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders Request : S) เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้เข้ามามีส่วนร่วมกับโรงเรียนในการจัดการศึกษาของโรงเรียน การให้ความใส่ใจบุตรหลานด้านการเรียน การสนับสนุนสื่อการเรียนรู้ แหล่งเรียนรู้ วิทยากรท้องถิ่นเพื่อให้ความรู้แก่นักเรียน ประกอบด้วย 4 โครงการ คือ 1) โครงการส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพ และภูมิปัญญาท้องถิ่น 2) โครงการผู้ปกครองสัมพันธ์งานกีฬามหาสนุก 3) โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 4) โครงการประชุมผู้ปกครอง
วิธีที่ 3 การจัดหาสื่อ นวัตกรรม และแหล่งเรียนรู้ (Instructional Media/Material : I) เป็นการจัดหา ส่งเสริมและสนับสนุนให้ครูมีการผลิต พัฒนาและใช้สื่อการเรียนการสอนที่มีความหลากหลายและเหมาะสม เพื่อนำมาใช้ใน การเรียนการสอน และพัฒนาแหล่งเรียนรู้ให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างรอบรู้ ประกอบด้วย 3 โครงการ คือ 1) โครงการประกวดสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุ 2) โครงการส่งเสริมและพัฒนาทักษะด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ 3) โครงการสื่อมัลติมีเดียเพื่อการเรียนรู้
2 ผลการใช้รูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วมในการพัฒนาการบริหารงานวิชาการแบบ TSI ของโรงเรียนเทศบาลบ้านศรีมหาราชา สังกัดเทศบาลเมืองศรีราชา จังหวัดชลบุรี สรุปได้ดังนี้
2.1 ผลการพัฒนาครู พบว่า ครูได้รับการพัฒนา เช่น มีการพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ ปรับเปลี่ยนวิธีการสอน สามารถออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ได้หลากหลายขึ้น สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันของโรงเรียนและนักเรียน มีการใช้กระบวนการกลุ่ม จัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิด อภิปราย การแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆของนักเรียน มีการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน นอกจากนี้ยัง พบว่า ครูมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันมากขึ้น ในส่วนของการทำวิจัยในชั้นเรียนครูมี ความกระตือรือร้น สนใจแสวงหาความรู้ และสามารถทำวิจัยในชั้นเรียนได้ทุกคน
2.2 ผลการขอความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พบว่า ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของโรงเรียนมากขึ้น ใส่ใจบุตรหลานด้านการเรียนมากขึ้น ซึ่งทางโรงเรียนได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แก้ไขปัญหาของนักเรียน โดยให้ผู้ปกครองได้พบปะพูดคุยกับครูระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน และมีการระดมทรัพยากรจากแหล่งต่าง ๆ ในชุมชนมาใช้ในการจัดการศึกษาและเปิดโอกาสให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมใช้ประโยชน์จากอาคารสถานที่ วัสดุอุปกรณ์และบุคลากรของโรงเรียนโรงเรียนมีการประชาสัมพันธ์ข่าวสาร ข้อมูลแก่ชุมชนอย่างสม่ำเสมอ
2.3 ผลการจัดหาสื่อ นวัตกรรม และแหล่งเรียนรู้ พบว่า โรงเรียนมีสื่อ นวัตกรรม และแหล่งเรียนรู้มากขึ้น ครูมีการผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนการสอน และนำสื่อมาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้มากขึ้น ได้ทำการปรับปรุงและพัฒนาห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ให้มีความสมบูรณ์ ความพร้อมในการจัดการเรียนการสอน พัฒนาห้องสมุด มีชีวิต ซึ่งมีทรัพยากรสารสนเทศที่หลากหลาย ทั้งด้านเอกสาร สิ่งพิมพ์ สามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึง ให้บริการระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยมีเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อให้บริการการศึกษาค้นคว้าของนักเรียน จำนวน 10 เครื่อง ด้วยระบบ Wireless LAN และมีการจัดเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับพิมพ์งานและสืบค้นข้อมูล
3. ผลการประเมินความพึงพอใจของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้สอน นักเรียน และผู้ปกครอง ที่มีต่อการรูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วมในการพัฒนาการบริหารงานวิชาการแบบ TSI ของโรงเรียนเทศบาลบ้านศรีมหาราชา สังกัดเทศบาลเมืองศรีราชา จังหวัดชลบุรี พบว่า คณะกรรมการสถานศึกษา ครูผู้สอน นักเรียนและผู้ปกครองมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก
การบริหารแบบมีส่วนร่วมในการพัฒนาการบริหารงานวิชาการแบบ TSI ของโรงเรียนเทศบาลบ้านศรีมหาราชา สังกัดเทศบาลเมืองศรีราชา จังหวัดชลบุรี บูรณาการ 3 วิธีการ ได้แก่ การพัฒนาครู การขอความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการจัดหาสื่อ นวัตกรรม และแหล่งเรียนรู้ เป็นรูปแบบที่ดี และมีความเหมาะสมมากในการบริหารงานวิชาการ ของโรงเรียนเทศบาลบ้านศรีมหาราชา สังกัดเทศบาลเมืองศรีราชา จังหวัดชลบุรี ทั้งนี้อาจเนื่องจาก ได้มีการพัฒนาขึ้นอย่างเป็นระบบ และสามารถนำไปใช้จริงได้ มีการส่งเสริมและพัฒนาครูให้มีความรู้ ความสามารถในการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพและเน้นนักเรียนเป็นสำคัญ มีการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องความสนใจและความถนัดของนักเรียน นักเรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงและฝึกนิสัยรักการอ่าน ส่งเสริมให้มีการใช้สื่อการเรียนการสอน และประสานความร่วมมือระหว่างผู้ปกครองและชุมชนในการพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการ