กระบวนการถ่ายทอดทางสังคมในการเล่นหมากล้อมและผลของการเล่นหมากล้อม
ชื่อเรื่อง กระบวนการถ่ายทอดทางสังคมในการเล่นหมากล้อมและผลของการเล่นหมากล้อมต่อการ
พัฒนาการแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัย
ผู้วิจัย นางสาวนงค์นุช ศีษะนอก
ปีที่ 2560
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษากระบวนการถ่ายทอดทางสังคมในการเล่นหมากล้อมว่ามีกระบวนการอย่างไรและส่งผลลัพธ์ต่อผู้เล่นอะไรบ้าง และ 2) เพื่อศึกษาผลการใช้การเล่นหมากล้อมเป็นสื่อในการพัฒนาการแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัย ใช้การวิจัยผสานวิธีแบบสำรวจต่อเนื่อง 2 ระยะ ในการวิจัยครั้งนี้ การวิจัยระยะที่ 1 เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพในการศึกษากระบวนการถ่ายทอดประสบการณ์ด้านการเล่นกีฬาหมากล้อมของครูผู้สอน ในการศึกษากระบวนการถ่ายทอดทางสังคมในการเล่นหมากล้อมและผลลัพธ์จากการเล่นหมากล้อม การวิจัยระยะที่ 2 เป็นการวิจัยเชิงทดลอง เพื่อศึกษาผลของการใช้หมากล้อมเป็นสื่อในการพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหากับเด็กปฐมวัยระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 และ 2 จำนวน 7 คน เป็นการสุ่มแบบเจาะจง ใช้รูปแบบการสังเกตและการทดสอบการเล่นเป็นระยะ
ผลการวิจัยพบว่า
การวิจัยระยะที่ 1 พบว่าในด้านผู้ถ่ายทอดพบว่า ครูผู้สอนหมากล้อมและเพื่อนของผู้เรียนเป็นผู้ถ่ายทอดหลักในการเรียนรู้การเล่นหมากล้อม ในด้านเนื้อหาพบว่า มีการถ่ายทอดทางสังคมใน 4 เนื้อหา ประกอบด้วย 1)กฎ กติกาการเล่นหมากล้อม 2) เทคนิคในการเล่นหมากล้อม 3) การฝึกกระบวนการแก้ปัญหา และ4 ) แนวคิดในการเล่นหมากล้อม ในด้านเทคนิคการถ่ายทอดพบว่า ครูผู้สอนใช้เทคนิคการถ่ายทอดการเสริมต่อการเรียนรู้ในการช่วยเหลือผู้เรียนให้เข้าใจในการเรียนหมากล้อม ประกอบด้วยการช่วยเหลือ ตั้งแต่การจัดเตรียมเนื้อหาให้ง่าย ลดความซับซ้อนลง ในระหว่างเล่น ครูผู้สอนให้คะแนะนำ ในระหว่างเล่น และหลังเล่น และ ให้การชี้แนะให้กำลังใจผู้เรียนหลังจากเล่น และการเสริมแรงในการถ่ายทอดทางสังคม และผลลัพธ์จากการเล่นหมากล้อมพบว่า การเล่นหมากล้อมสามารถพัฒนาทักษะดังต่อไปนี้ 1) การใช้เหตุผล 2) ความเป็นตน 3) การรับรู้ความสามารถของตนเอง 4) การแก้ปัญหา 5) ความสามารถในการกำกับตนเอง และ 6) การประยุกต์แนวคิดในการเล่นหมากล้อมไปสู่ชีวิตประจำวัน
การวิจัยระยะที่ 2 พบว่า นักเรียนที่เป้าหมาย มี ความสามารถในการแก้ปัญหาสูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 100